รู้จัก “ซีเซียม-137” กัมมันตรังสีอันตรายที่หายไปจากโรงไฟฟ้าปราจีน

จากกรณีที่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Cs-137) ได้สูญหายไปจากโรงไฟฟ้า บริเวณนิคมอุตสาหกรรม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ทางจังหวัดออกคำเตือนประชาชนผู้พบเห็นห้ามเข้าใกล้หรือจับเด็ดขาด หลังข่าวแพร่สะพัดประชาชนต่างมีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

‘ซีเซียม-137’ หรือ Cs-137 วัสดุกัมมันตรังสีสุดอันตราย ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีลักษณะเป็นแคปซูลแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว มีสัญลักษณ์รูปใบพัด(วัตถุอันตราย) โดยวัสดุนี้ติดอยู่ที่ปลายท่อโรงไฟฟ้ามานานหลายสิบปีแล้ว แต่ทางบริษัทไม่ทราบว่า หายไปได้อย่างไร และหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่

ทางตัวแทนบริษัทฯ จึงได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ศรีมหาโพธิ โดยเกรงว่า จะเป็นอันตรายหากมีผู้ไปสัมผัส และได้ประสานกับหลายหน่วยงานเร่งแจ้งเตือนภัยด่วน พร้อมตั้งรางวัลไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ กลับคืนมาได้

ทำความรู้จัก ‘ซีเซียม-137’

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียมซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชั่น (fission products) เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น (nuclear fission) ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี เมื่อเกิดการรั่ว เช่น อุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมี % Yield สูงกว่า fission products ตัวอื่นๆ ทำให้ซีเซียมกระจายอยู่ทั้งในดิน น้ำ และเข้าสู่วงจรอาหาร และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร

เนื่องจากสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและในปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย และถ้าสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนานหลายวัน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ซึ่งทั้งหมดจะลดระดับลงเรื่อยๆ ในเวลาหลายสัปดาห์ และจะเสียชีวิตภายในเวลา 2-3 เดือน

ทั้งนี้ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งระดับอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

ความคืบหน้าล่าสุด แพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เผยผลเฝ้าระวังทางสาธารณสุขว่า ยังไม่พบผู้เข้ามารักษาอาการที่เข้าข่ายว่ามาจากการได้รับสารซีเซียม-137 แต่อย่างใด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *