16 มิถุนายน 2563 – บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ผู้นำธุรกิจ โรงแรม อาหาร และสินค้าแบรนด์แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ระดับโลก ประกาศความพร้อมในการกลับมาปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือทั่วโลกจำนวน 535 แห่งทั่วโลก เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่แบบ New Normal ด้วยการยกระดับมาตรการด้านสุขภาพและสุขอนามัยเพื่อความปลอดภัยห่างไกลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากที่สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณบวกที่จะกลับมารองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง นอกจากนี้ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ได้ออกมาตรการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก จะเป็นแรงส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะมีความแข็งแกร่งอีกครั้งอย่างรวดเร็ว
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน จนส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจระดับโลกในวงกว้าง แต่ล่าสุดสถานการณ์ทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เนื่องจากหลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น จนมีมาตรการคลายล็อคดาวน์ให้ภาคธุรกิจและประชาชนกลับมาทำกิจกรรมและดำเนินวิถีชีวิตตามเดิม
โดยไมเนอร์ได้เตรียมความพร้อมของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือทั่วโลกที่จะกลับมาปฎิบัติการในรูปแบบ New Normal อีกครั้งเช่นกัน โดยบริษัทกำหนด Reopening แบบเต็มรูปแบบดังนี้
- โรงแรมในประเทศไทย จำนวน 28 แห่ง (5,009 ห้อง) สัดส่วนรายได้ 14% ซึ่งเริ่มทยอยเปิดกลับมาเปิดให้บริการ โดยเริ่มจากโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ในปลายเดือนพฤษภาคม โรงแรมในหัวหินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ส่วนโรงแรมบางแห่งในจังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย พัทยาและขอนแก่นมีกำหนดกลับมาเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2563
- โรงแรมในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 29 แห่ง (2,988 ห้อง) โดยไม่นับรวมโรงแรมในประเทศไทย สัดส่วนรายได้ 4% โดยโรงแรมในประเทศจีนและในประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จในการกลับมาเปิดให้บริการแล้ว ตามการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียที่ส่งสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมในเครือของไมเนอร์ที่ตั้งในภูมิภาคนี้ เพราะกลุ่มลูกค้าของโรงแรมมากกว่า 60% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
- โรงแรมในเครือ NH Hotel Group จำนวน 343 แห่ง (51,151 ห้อง) สัดส่วนรายได้ 67% จะกลับมาให้บริการอย่างเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการโรงแรมประมาณ 60% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปเริ่มมีมาตรการคลายล็อคดาวน์ หรือแม้แต่ออกประกาศการสิ้นสุดของการแพร่ระบาด
ในขณะที่ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ได้ออกมาตรการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก อาทิ รัฐบาลเวียดนามออกแคมเปญพิเศษเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ เช่น การลดราคาโรงแรม-ที่พัก และตั๋วเครื่องบิน รัฐบาลไต้หวันได้วางแผนช่วยสมทบทุนธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวที่รวมไปถึงส่วนลดค่าสาธรณูปโภค รวมถึงการให้เงินสงเคราะห์แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ส่วนประเทศนอร์เวย์ออกมาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใช้กับการขนส่งผู้โดยสารที่พัก กิจกรรมทางวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่จนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เสนอแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ซึ่งในแผนนี้ประกอบด้วยมาตรการ อาทิ “เที่ยวปันสุข” โดยจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อบัตรกำนัลดิจิทัลสำหรับนำไปใช้เป็นค่าห้องพัก “เราไปเที่ยวกัน” ที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พักและกิจกรรมของโรงแรม รวมถึงมาตรการ “กำลังใจ” เพื่อเป็นการตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 ราว 1.2 ล้านคน โดยจะสนับสนุนงบประมาณศึกษาดูงานผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศ ล่าสุดมีมติยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตลอดจนนโยบายอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตอีกจำนวนมาก ซึ่งไมเนอร์มีแผนการจัดกิจกรรมทางการตลาดให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าคนไทยอย่างเหมาะสมต่อไป
ไมเนอร์เชื่อมั่นว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกจะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยภาคธุรกิจต่าง ๆ จะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว ซึ่งเมื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้นักท่องเที่ยวจะออกเดินทางมากขึ้นและเพื่อความปลอดภัยในด้านสุขอนามัยของลูกค้าอันเป็นหัวใจสำคัญ ธุรกิจโรงแรมในเครือทั้งหมด 530 โรงแรมทั่วโลกจะปฏิบัติตามคำสั่งและแนวทางจากรัฐบาลแต่ละประเทศและองค์การอนามัยโลก โดยไมเนอร์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัย ที่ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อกำกับดูแลการพัฒนามาตรการด้านสุขอนามัยให้ลูกค้าตามมาตรฐานอันเข้มงวด ตลอดจนให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ ของแขกผู้เข้าพัก ทั้งด้านอาหาร การท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้เข้าพักได้รับประสบการณ์พักผ่อนที่น่ารื่นรมย์ควบคู่ไปกับความปลอดภัยด้านสุขภาพ นายชัยพัฒน์ กล่าวสรุป