คลอดแล้วคำสั่งปฏิรูปกองทัพ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบ ร่าง พ.ร.ฎ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม เดินหน้า ปฏิรูปกองทัพ ลดยศ-ตำแหน่งทหาร

ที่ประชุม ครม. รับทราบร่าง พ.ร.ฎ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม เดินหน้า ปฏิรูปกองทัพ ลดยศ-ตำแหน่งทหาร  นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมรับทราบ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การปรับตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การบังคับบัญชา วินัย การออกจากราชการ ซึ่งรวมทุกด้านเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนกลาโหม สอดคล้องกับการปฏิรูปกองทัพที่จะมีการลดยศ และตำแหน่งของทหารลง เพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหมมากขึ้น ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าควรออกหลักเกณฑ์ต่างๆ มาให้ครอบคลุม เพื่อให้มีข้าราชการกลาโหม ได้เร็วมากขึ้น

ร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

3. ให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกลาโหม (กขพ.) โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหมแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือทำการใด ๆ ตามที่ กขพ. มอบหมายได้
2. กำหนดให้การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหมตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม เช่น การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ การบริหารจัดการข้าราชการต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของทางราชการและลักษณะของงานโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
3. กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม รวมทั้งเงื่อนไขการพิจารณายกเว้นให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปบางประการเข้ารับราชการได้
4. กำหนดเกี่ยวกับวัน เวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนกลาโหม
5. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้
5.1 ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานบริหารราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ และตำแหน่งอื่นตามที่ กห. กำหนด
5.2 ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานด้านอำนวยการ ปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการ รองหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการซึ่งมิใช่ตำแหน่งตาม 6.1 และตำแหน่งอื่นตามที่ กห. กำหนด
5.3 ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ กห. กำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น
5.4 ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ กห. กำหนด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.
5.5 ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งตาม 5.1 5.2 5.3 และ 5.4 ตามที่ กห. กำหนด

6. กำหนดให้ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้
6.1 ตำแหน่งประเภทบริหาร มีระดับต้น และสูง
6.2 ตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีระดับต้น และสูง
6.3 ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ

6.4 ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย มีดังนี้
1) ประเภทครู (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.) มีระดับครู ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ
2) ประเภทคณาจารย์ (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัด กห. ที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา) มีระดับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์)
6.5 ตำแหน่งประเภททั่วไป มีระดับปฏิบัติงาน ชำนาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ

7. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม จะมีในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด และเป็นตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้เป็นไปตามที่ กห. กำหนด และให้ กห. จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยจำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงานเท่ากันโดยประมาณเป็นระดับเดียวกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบหลักและคุณภาพของงาน

8. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการ การสอบแข่งขัน การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ การทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การย้าย การโอน การนับเวลาราชการ การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และการให้พ้นจากตำแหน่งราชการของข้าราชการพลเรือนกลาโหม

9. กำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและการเสริมสร้างแรงจูงใจ เช่น ส่วนราชการมีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตนต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรมและเที่ยงธรรม และเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาดำรงตนเป็นข้าราชการที่ดี ข้าราชการผู้ใดประพฤติตนอยู่ในจริยธรรมและปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ตามสมควรแก่กรณี เป็นต้น

10. กำหนดเกี่ยวกับการบังคับบัญชา ข้อปฏิบัติและข้อห้าม วินัย การรักษาวินัย ผู้กระทำผิดวินัย ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษทางวินัยและเหตุอันควรงดโทษ การดำเนินการทางวินัย การลงโทษ ผู้มีอำนาจในการสั่งลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม

11. กำหนดเกี่ยวกับการออกจากราชการ การรับราชการต่อเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ การสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน และการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารของข้าราชการพลเรือนกลาโหม

และ 12. กำหนดให้ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการให้มีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหม ให้ข้าราชการทหารที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับให้คงอยู่รับราชการในฐานะข้าราชการทหารเช่นเดิม โดยให้สามารถดำรงตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการบรรจุหรือแต่งตั้งบรรจุบุคคลเข้ารับราชการหรือดำรงตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหมนั้น