ประวัติศาสตร์ของการ “ปาขี้” จากอดีตสู่ ครม.เศรษฐา ปานายแบกสะเทือนถึงเพื่อไทย!

จากกรณีนายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ สมาชิกกลุ่มแคร์ เคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ประกาศว่า ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพปชร. จะยอมให้เอาขี้ปาหัว ซึ่งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยู แยกทางกับพรรคก้าวไกล ก่อนจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคสลายขั้วการเมือง เจ้าตัวจึงจัดกิจกรรมปาขี้ในวันนี้ (2 ก.ย.2566)ตามที่ได้เคยได้ลั่นวาจาไว้ 

ก่อนเริ่มกิจกรรมนายดวงฤทธิ์ ได้ทวีตข้อความว่า “Letter to Freedom จดหมายสู่อิสรภาพ “Freedom to be, Freedom to act” แถลงการณ์นี้เป็นจดหมายที่ส่งไปถึงผู้คนเพื่อแสดงออก ถึงการกระทำของนายดวงฤทธิ์ ที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่สื่อสารออกไป และรักษาคำพูด ฐานะเจตจำนงของคนตัวเอง ในบริบทของ อิสรภาพ ทางทีมงานจะเตรียมขี้ไว้ให้ ใครไม่เชื่อใจก็ให้นำขี้มาเอง โดยเตรียมให้คนมาปาขี้ใส่

“ปาขี้” นายแบก สะเทือนถึง คนเพื่อไทย

สำหรับบรรยากาศที่ Mirror Art ซอยแจ้งวัฒนะ 1 แยก 6 บริเวณลานจอดรถ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมนั้น ทีมงานของนายดวงฤทธิ์ นำผ้าใบสีขาวมาปูพื้น และเตรียมอุจจาระไว้ ก่อนจะเริ่มกิจกรรมดังกล่าวในเวลา 15.14 น.

นายดวงฤทธิ์ ได้ประกาศแถลงการณ์ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะจุดยืนทางการเมือง ความแค้น หรือจำนนต่อสถานการณ์ แต่ต้องการแสดงออก เพื่อรักษาอิสรภาพเรื่องการแสดงออก รวมถึงรักษาสิ่งที่เคยโพสต์ไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยความยินดี ยอมรับ ทุกคนที่ร่วมช่วยเหลือตัวเองในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งหมดต่างทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ทั้งหมดแล้วว่า ต้องการสนับสนุนเพื่ออิสรภาพในการเป็นของตัวเอง และอิสรภาพในการแสดงออก รวมถึงต้องการให้ตัวเองยังคงอยู่ในฐานะคำพูดของตัวเอง พร้อมขอบคุณผู้สนับสนุนทุกคน ที่เข้าใจ และห่วงใย

สำหรับบรรยากาศกิจกรรมวันนี้ ได้สร้างแรงสะเทือนไปถึงพรรคเพื่อไทย เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนกล่าวขอบคุณนายดวงฤทธิ์ ที่ยอมรักษาคำพูด ขณะที่ผู้มาสังเกตการณ์บางคนมองว่าคนที่น่าจะโดนปาขี้ที่สุดน่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน อุ๊งอิ๊ง และบรรดากรรมการบริหาร  รวมถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะล้วนแต่เป็นผู้ที่ไม่รักษาคำพูดตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีผู้มาร่วมกิจกรรมใส่หน้ากากเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาร่วมงานด้วย รวมถึงมีผู้ที่มาร่วมสังเกตการณ์บางคนเกิดความไม่พอใจ มองว่าการจัดกิจกรรมปาขี้เพื่อรักษาคำพูดเป็นแค่ “การละคร” และตะโกนถามว่า จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ทำไมไม่กล่าวขอโทษประชาชน แต่นายดวงฤทธิ์ไม่ได้โต้ตอบแต่อย่างใด หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมได้มีทีมงานพาเดินออกไปล้างตัว

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว นายดวงฤทธิ์ได้อธิบายไว้ว่ามีนัยยะสำคัญ ดังนี้ 1. จะเริ่มกิจกรรมในเวลา 15.14 น. แสดงถึง การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ด้วย 314 เสียง ระยะเวลาในการปา อุจจาระ 11 นาที แสดงถึงการรวมพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค น้ำหนักมูลวัวในถัง 4 กิโลกรัม แสดงถึงจำนวนพรรคเคยได้ประกาศเอาไว้ว่าจะไม่มีวันรวมกัน 4 พรรค

ประวัติศาสตร์ของการปาขี้

เรื่องราวของการ “ปาขี้” ในโลกนี้ มีปรากฏมานานแล้ว และแน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำต่อใครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ปาขี้ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มักมาจากการประท้วงเพื่อแสดงการต่อต้านอำนาจรัฐ การแสดงความไม่พอใจหรือคับแค้นต่อผู้มีอำนาจโดยนัยเป็นการ “เอาคืน” ให้เกิดความอับอายขายหน้า สกปรกน่ารังเกียจ ไม่ได้อยากให้ถึงแก่ชีวิต เช่นในปี 2560 การประท้วงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเวเนซุเอลา โดยผู้ประท้วงได้เตรียมอุจจาระใส่ขวดมาขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งจากเดิมใช้ก้อนหิน ระเบิดขวด และแก๊สน้ำตา แม้ว่าการใช้อุจจาระแทนอาวุธอาจดูรุนแรงน้อยกว่าก็จริง แต่ก็สร้างความเละเทะน่าสะอิดสะเอียนกว่ามากทีเดียว

การประท้วงรัฐบาลด้วย “ระเบิดอุจจาระ” ในเวเนซูเอล่า

สำหรับการ “ปาขี้” ในประเทศไทย เรามักพบเห็นการกระทำดังกล่าวในทางการเมือง เหตุการณ์ปาขี้ครั้งประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 เมื่อนายธนิต สุวรรณเมนะ ติวเตอร์ชื่อดังจากย่านรามคำแหง บุกเข้าไปยังที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ ณ ตอนนั้นมี นายอุทัย พิมพ์ใจชน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ จากนั้นบุรุษผู้ถือถุงบรรจุอุจจาระก็กระทำการปาถุงนั้นใส่หน้านายอุทัยที่กำลังแถลงข่าวกรณีการพักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งมาหลายปี(ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้นายธนิตที่มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งข้าราชการ) จนเปรอะเปื้อนไปทั่ว ท่ามกลางการแตกฮือของผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชน

นายอุทัย พิมพ์ใจชน ในเหตุการณ์ปาขี้เมื่อ พ.ศ. 2537

ทันทีที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ล็อกตัวผู้ก่อเหตุ และเตรียมจะทำร้ายร่างกาย แต่กลับมีเสียงห้ามปรามดังมาจากนายอุทัย ผู้ซึ่งยุคนั้นถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงมาก แต่ระหว่างเกิดเหตุเขากลับไม่ได้แสดงสีหน้าตื่นตกใจแต่อย่างใด หลังเหตุการณ์แม้นายอุทัยจะให้อภัยไม่เอาความ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมาย โดยมีคำสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี เหตุการณ์นี้กลายเป็นคดีตัวอย่างที่ถูกกล่าวขานต่อมาอีกยาวนาน

เหตุการณ์ปาขี้ทางการเมืองมีเกิดขึ้นอีกหลายครั้งโดยเฉพาะกับนักการเมืองท่านนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องถือว่าเป็นนักการเมืองที่ตกเป็นเป้าของการปาขี้อยู่หลายครั้งแต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง จนน่าจะได้ชื่อว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีที่ถูกปาขี้ใส่บ่อยที่สุด” โดยรวมแล้วมี 4 เหตุการณ์ ดังนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ปี 2551 (ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน): ขณะที่นายอภิสิทธิ์กำลังเดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังปฏิบัติหน้าที่ที่ จ.ยโสธรและ จ.ศรีสะเกษ ก็ถูกชายสองคนขับรถจักรยานยนต์สวนมา แล้วปาถุงบรรจุอุจจาระใส่หน้ารถตู้ของคณะเดินทางจนถุงพลาสติกแตกกระจายเต็มหน้ารถ จากนั้นมือปาก็ขับรถหนีไป

ปี 2552 (ดำรงตำแหน่งนายกฯ) กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงขับไล่นายอภิสิทธิ์ที่หน้าเทศบาล ต.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ที่เดินทางมาพบปะประชาชนและมอบนโยบายประกันราคาพืชผลเกษตรให้กับเกษตรกร ข้อมูลจากมติชนรายงานว่า ผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนรถที่กำลังฝ่ามวลชนออกจากพื้นที่ โดยสิ่งของที่ปามีทั้งถุงบรรจุปลาร้าผสมมูลสัตว์ ถุงอุจจาระ ขวดน้ำ ก้อนหิน และอื่นๆ

ปี 2553 (ดำรงตำแหน่งนายกฯ) เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ปีดังกล่าว นายวิวิทวิน เตียวสวัสดิ์ พ่อค้าวัตถุโบราณ ได้ปาอุจจาระใส่บ้านนายอภิสิทธิ์ในกรุงเทพฯ สื่อผู้จัดการรายงานว่า นายวิวิทวินต้องการร้องขอความเป็นธรรม เพราะเคยร้องเรียนต่อตำรวจให้ดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่ากับเพื่อนบ้านที่ชอบมั่วสุมสูบบุหรี่ จนทำให้ลูกสาวคนโตต้องล้มป่วยบ่อยครั้งเนื่องจากมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบหายใจ แต่ตำรวจกลับไม่ดำเนินการอะไรให้ และการไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

อีก 1 เดือนต่อมาในปีเดียวกัน มีคนขี่จักรยานยนต์มาขว้างมูลวัวใส่บ้านของนายอภิสิทธิ์ ในเวลาต่อมา สำนักข่าวไทยรายงานว่า ตำรวจ สน.ทองหล่อสามารถจับกุมนายคำพอง ซามาตร์ ชาว จ.นครพนม ผู้ก่อเหตุได้ โดยนายคำพองให้เหตุผลว่าทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตำรวจในพื้นที่ จ.นครพนม ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย และส่วนตัวนั้นตนชื่นชอบกลุ่มคนเสื้อแดง

แต่หากย้อนประวัติศาสตร์การปาขี้ไปไกลกว่านั้นในอดีต สมัยอยุธยาการขว้างปาขี้ใส่บ้านคนอื่นมีการทำกันบ่อยครั้ง เพราะเหตุที่สมัยนั้นไม่มีห้องน้ำ ชาวไพร่ใช้วิธีไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า ไปเขา หรืออย่างดีหน่อยก็ขุดหลุมฝังมูล ดังนั้นหากมีใครไม่พอใจใครก็มักจะเอาขี้ไปปาใส่เรือนคนอื่นกันง่ายๆ โดยเฉพาะการปาใส่บ้านเรือนเจ้าขุนมูลนายเพราะความคับแค้นไม่พอใจ คนปาพอปาเสร็จก็วิ่งหนีไปเลย และคงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้เจ้าขุนมูลนายได้รับความอับอายขายหน้า เสมือนเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีเจ้าขุนมูลนายให้รู้สึกเสื่อมเกียรติ ยุคนั้นจึงถึงขั้นต้องออกกฎหมายมาลงโทษกันเลยทีเดียว

เครดิตภาพ: ศิลปวัฒนธรรม

ข้อมูลจากศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า กฎหมายบอกโทษที่ทำความผิดเกี่ยวกับการขับถ่ายมีหลายประการ ปรากฏอยู่ใน “กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ” มีความโดยสรุปว่า “เอาอาจมซัดเรือนท่าน เอาอาจมซัดบ้านท่าน ถ้าเข้าบ้านท่านแล ถ่ายอุจจาระไว้ ถ้าขุดหลุมถ่ายอุจจาระใกล้เสาเรือนท่าน” โดยกฎหมายส่วนที่กล่าวว่า “เอาอาจมซัดเรือนท่าน” ระบุบทลงโทษการปาขี้ใส่บ้านคนอื่นไว้ว่า “ผู้ใดเอาอาจมซัดเรือนท่านให้ไหม ๑๒๐๐๐๐ ถ้าเอาอาจมซัดบ้านท่านไหม ๑๑๐๐๐๐… ถ้าแลขุนแขวงหมื่นแขวงสิบร้อยอายัดว่ากล่าวแลมันมิฟังไซ่บันดาจะไหมทีหนึ่งให้ไหมทวีแล้ว แลจำให้มันแบกอาจมเสียจงได้” หมายความว่านอกจากมีโทษถูกปรับแล้ว หากทำผิดซ้ำอีกจะปรับเพิ่มเป็นสองเท่า และยังลงโทษให้ผู้ทำผิดแบกอาจม (ขี้ของคน) อีกด้วย

กฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การนำเอาขี้ไปขว้างปาใส่บ้านของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมอยุธยา เพราะมิฉะนั้นก็คงไม่มีกฎหมายออกมาห้ามปราม

มาถึงยุคนี้ที่คนไทยได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่หมาดมาบริหารประเทศท่ามกลางเสียงเชียร์ของด้อมสายแบก และเสียงก่นด่าว่า “ตระบัดสัตย์” ที่ทำเอาบรรดานางแบกนายแบกเสียอาการไปหลายคน จนนำมาสู่กิจกรรมการ “ปาขี้” ครั้งนี้ ก็เพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงคำท้าทายที่ร้อยรัดตัวเองเอาไว้นั่นเอง

 

อ้างอิงข้อมูล: ไทยรัฐ, ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ,voathai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *