ชุดนักเรียนไทย..ประวัติศาสตร์อันยาวนานจากสมัย ร.5

เป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นจนได้กับเรื่องของชุดนักเรียน จริงๆเรื่องดั่งกล่าวนี้ไม่ได้เป็นข้อพิพาทกันแค่เมื่อเร็วๆนี้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สังคมเคยพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ครั้งนี้ดูเหมือนฝ่ายนักเรียนคงไปกินดีหมี หัวใจเสือกันมากระมัง ถึงได้มีปฏิบัติการกันอย่างเป็นรูปธรรมขนาดนี้ ซึ่งเราคงไม่ไปฟันธงว่าใครคิดถูก คิดผิด เพียงแต่จะเล่าประวัติศาสตร์กันให้ฟังว่าจริงๆ แล้วชุดนักเรียนมีที่มาอย่างไร และมีมายาวนานแค่ไหน

หลายท่านคงไม่ทราบว่าชุดนักเรียนเป็นชุดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ได้ออกพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน เมื่อปีพุทธศักราช 2482 ซึ่งในตอนนั้นเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

โดยชุดนักเรียนชายไทยในสมัยนั้นจะมี หมวกฟาง ที่พันผ้าตามสีประจำโรงเรียน พร้อมติดอักษรย่อชื่อโรงเรียนที่หน้าหมวก สำหรับเสื้อจะเป็นเสื้อราชปะแตนสีขาว กระดุมทองกางเกงรูเซีย เป็นกางเกงทรงกระบอกยาวถึงใต้เข่ารวบชายรัดไว้ใต้เข่า สีดำ ถุงเท้าขาว หรือดำ แต่ในสมัยก่อนถุงเท้าถือเป็นสินค้าราคาแพง นักเรียนในสมัยนั้นจึงไม่ได้ใส่ถุงเท้ากันทุกคน รองเท้าก็จะเป็นรองเท้าสีดำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนตามหัวเมืองเปลี่ยนมาใช้เสื้อสีเทาแทนสีขาว ตามเครื่องแบบสำหรับเดินป่า ที่ข้าราชการในพระนครใช้เมื่อออกไปหัวเมืองเพราะรักษาความสะอาดได้ง่ายกว่า จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียนมาเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัยจนกระทั่งถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในสมัยนั้นจัดเป็นของที่หายากขาดตลาด เครื่องแบบนักเรียนจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น หมวกกะโล่สีขาว เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อนามจังหวัดพร้อมหมายเลขประจำโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน โรงเรียนราษฎร์หรือสมัยนี้เรียกว่า โรงเรียนเอกชนจะปักสีแดง

ส่วนกางเกงขาสั้นเป็นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล ถุงเท้าน้ำตาล รองเท้าน้ำตาล มีก็ได้ไม่มีก็ได้ แต่ก็จะมีบางโรงเรียนที่มีเครื่องแบบพิเศษ เช่น โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย) โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนพรานหลวง ใช้เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. 129 ประกอบด้วย หมวกหนีบสักหลาดสีน้ำเงินแก่ ติดตราพระมหามงกุฎเงินที่ด้านขวาของหมวก กับมีดุมพระมหามงกุฎเงินที่หน้าหมวก 2 ดุม

เสื้อราชปะแตนสีขาว ดุมพระมหามงกุฎเงิน ติดแผ่นคอพื้นน้ำเงินแก่มีแถบไหมเงินพาดกลาง กับมีอักษรย่อนามโรงเรียนทำด้วยเงิน ม.(มหาดเล็กหลวง) ร. (ราชวิทยาลัย) ช. (มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่) และ พ. (พรานหลวง) ทับกึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้าง กางเกงสีน้ำเงินแก่ ถุงเท้าดำ รองเท้าดำ แต่ในชั่วโมงเรียนปกติจะสวมเพียง เสื้อคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้น

สำหรับชุดเครื่องแบบของนักเรียนหญิงนั้น ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกรากฐานการศึกษาชาตินั้น มุ่งเน้นจัดการศึกษาไปที่นักเรียนชายเป็นหลัก จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2456 จึงมีการจัดหลักสูตรสำหรับสตรีขึ้นเป็นการเฉพาะ ได้เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น พร้อมทั้งเริ่มมีเครื่องแบบนักเรียนหญิง ซึ่งชุดนักเรียนหญิงในสมัยก่อนก็จะมีความน่ารักอยู่ไม่น้อยคือ นุ่งผ้าซิ่นสีพื้น(เหมือนประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน) ต่อมามีกำหนดให้ติดเข็มอักษรย่อนามโรงเรียน เช่น โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ ติดเข็มอักษร ว พ ในวงกลม

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เองที่อนารยประเทศได้มีการหันมาใส่ใจในเรื่องของเครื่องแบบนักเรียนมากขึ้น และมีความใกล้เคียงกับเครื่องแบบนักเรียนในปัจจุบัน อาจมีความต่างกันบ้างตามภูมิอากาศของแต่ล่ะที่ และเข้ากับกาลเทศะของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เครื่องแบบของนักเรียนชายส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกางเกงขาสั้นหรือขายาวสีดำและเสื้อเชิ้ตสีขาวและอาจมีเนคไทด้วย ส่วนเครื่องแบบของนักเรียนหญิง ส่วนใหญ่แล้วประกอบไปด้วยเสื้อครึ่งตัวและกระโปรง

ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนไทย มีรูปแบบการแต่งกายของผู้เข้าศึกษาในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนต่าง ๆ เองซึ่งจะแตกต่างกันบ้างตามเพศ และสังกัดของโรงเรียนต่างๆ เช่นโรงเรียนของรัฐอย่างโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพมหานคร หรือโรงเรียนเอกชนซึ่งก็จะเป็นไปตามกฎระเบียบของโรงเรียนนั้นๆ