ย้อนอดีต “ประธานสภาฯ” ผู้แจ้งเกิดม็อบนกหวีด กับ 2 ทศวรรษที่ประธานสภาฯมาจากพรรคอันดับ 1

ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประธานสภาฯ จากพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งมาแบบแลนด์สไลด์เป็นอันดับ 1 ได้เลือก ‘นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์’ เป็นประธานสภาฯ และต่อมาประธานสภาฯคนนี้ก็คือ ผู้ส่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ผ่านสภาตอนตี 4 แจ้งเกิดให้ม็อบ กปปส. ชัตดาวน์เมืองจนนำไปสู่การรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจมายาวนานจนถึงวันนี้

หากย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา จะพบว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ล้วนมาจากพรรคอันดับหนึ่งทั้งสิ้น ยกเว้นสภาฯ ชุดปี 2562 ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกที่ประธานสภาฯ มาจากพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง (ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคอันดับ 4) เนื่องมาจากการต่อรองผลประโยชน์ในทางการเมืองของคณะรัฐประหาร

สำหรับอดีตประธานสภาฯในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีรายนามดังนี้

เครดิตภาพ:@boraan_th

พ.ศ.2535 นายมารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย : พรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาสูงสุด 79 เสียง

พ.ศ.2538 พล.ต.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทย รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา : พรรคชาติไทย ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาสูงสุด 92 เสียง

พ.ศ.2539 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคความหวังใหม่ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ : พรรคความหวังใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาสูงสุด 125 เสียง

พ.ศ.2540 นายพิชัย รัตตกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หรือ “รัฐบาลชวน 2” (รวมเสียงได้จากการดึง 12 ส.ส.งูเห่าพรรคประชากรไทยนำโดยนายวัฒนา อัศวเหม มาชิงตั้งรัฐบาล หลังพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี)

พ.ศ.2544 นายอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร : พรรคไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาสูงสุด 248 เสียง

พ.ศ.2548 นายโภคิน พลกุล จากพรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร : พรรคไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาสูงสุด 377 เสียง

พ.ศ.2551 นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช : พรรคพลังประชาชน ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาสูงสุด 233 เสียง

พ.ศ.2551 นายชัย ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านี้ระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ รวบรวมเสียงมาจากกลุ่มส.ส.งูเห่า นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ หลังมีการยุบ 3 พรรคการเมือง คือ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัยจึงย้ายไปเข้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมกับรัฐบาลประชาธิปัตย์

พ.ศ.2554 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากพรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาสูงสุด 265 เสียง

พ.ศ.2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พ.ศ.2562 นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ (ที่นั่งในสภา 52 เสียง เป็นพรรคอันดับ 4 ) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา : พรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่ง ส.ส. 116 เสียง (พรรคที่ได้จำนวนส.ส.มากที่สุดคือ เพื่อไทย 136 เสียง แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้)

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *