เตือนภัย!! 3 อันดับภัยไซเบอร์ใกล้ตัวที่คนไทยถูกหลอกมากที่สุด

Must Read

ปัจจุบัน ‘ภัยไซเบอร์’ ได้ทวีความรุนแรงในการโจมตีกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนต้องเคยได้ยินข่าวการโจมตีสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐมาแล้ว ขณะที่ภัยไซเบอร์ยังเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที เช่นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงจนสร้างความเดือดร้อนเสียหายไปทั่ว ข้อมูลจากวารสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เรื่อง “ภัยไซเบอร์ใกล้ตัว” แต่ละประเภทที่ประชาชนควรรู้เท่าทัน รวมถึงแนะนำวิธีรับมือและป้องกันตนเองจากภัยที่อาจเกิดขึ้น

ภัยประเภทที่ 1 : มิจฉาชีพบน Social Media

ในยุคแห่ง Social Media ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งมิจฉาชีพเองก็เริ่มใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยอาศัยข้อมูลจากแชทหรือโพสต์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วยในการสวมรอยหรือปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น การส่งข้อความแชทเพื่อหลอกให้โอนเงิน หรือการปลอมแปลงสลิปโอนเงินในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งถ้าหากเราไม่ระวังอาจทำให้สูญเสียเงิน หรือเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจได้

วิธีรับมือและป้องกัน :

1. อย่าหลงเชื่อข้อความผ่านแชทเพื่อขอให้โอนเงินหรือขอข้อมูลใด ๆ หาก ผู้ส่งข้อความเป็นเพื่อน ควรติดต่อเพื่อนโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยัน ตัวตนและจุดประสงค์ก่อน

2. ควรตรวจสอบสลิปโอนเงินจากผู้โอนให้มั่นใจก่อนยืนยันการโอนเงิน ทุกครั้ง

ภัยประเภทที่ 2 : อีเมลหลอกลวง (Phishing)

ทุกวันนี้เราทุกคนมีอีเมลเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสมัครบริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เหล่ามิจฉาชีพจึงนิยมใช้ช่องทางนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งหนึ่งในกรณีที่พบเห็นบ่อย คือ การส่งอีเมลโดยแอบอ้างเป็นธนาคารพาณิชย์ เพื่อหลอกให้ทำธุรกรรม หรือกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจฝังมัลแวร์ (โปรแกรมมุ่งร้าย) ไว้ในเอกสารแนบของอีเมล ซึ่งหากเปิดไฟล์ดังกล่าว จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้รับเกิดความเสียหายได้ เช่น ไฟล์ต่าง ๆ ถูกยึดเพื่อเรียกค่าไถ่ หรือระบบคอมพิวเตอร์ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้งานได้

วิธีรับมือและป้องกัน :

หากได้รับอีเมลต้องสงสัยให้ “คิด” ก่อน “คลิก” ควรตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดก่อนตอบกลับหรือให้ข้อมูลใด ๆ ทุกครั้ง

ภัยประเภทที่ 3 : การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft)

หากติดตามข่าวด้าน Cybersecurity (ความปลอดภัยทางไซเบอร์)ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่ามีข่าวเว็บไซต์และบริการหลายแห่งถูกแฮกข้อมูล หรือทำข้อมูลรั่วไหลออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์และบริการสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้อยู่ด้วย โดยข้อมูลที่รั่วไหลมักเป็นข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตร เครดิต และมิจฉาชีพสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานของเราหรือกระทำการใดโดยมิชอบในนามของเราได้ เช่น โอนเงินโดยทุจริต

วิธีรับมือและป้องกัน :

1. ไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใด ๆ หากไม่จำเป็น

2. หมั่นติดตามข่าวสารด้าน Cybersecurity อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีข่าวเว็บไซต์หรือบริการที่ท่านใช้งานอยู่ถูกขโมยข้อมูลไป ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านหรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อายัดบัตรเครดิตทันที

จะเห็นได้ว่าภัยไซเบอร์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเราครอบครัว และองค์กร ได้โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นทุกคนจึงต้องตระหนักรู้และเท่าทันภัยไซเบอร์ตลอดเวลาโดยติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การอัปเดตอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเพื่ออุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย bot.or.th

Latest News

อย่างเอา!! “เอ้ Botcash” รีมิกซ์เพลงจากเสียงร้องว่าที่นายกฯ “พิธา” ในสไตล์ EDM

กลายเป็นคลิปยอดฮิตในโลกโซเชี่ยล สืบเนื่องจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไปออกรายการ 'คุยนอกจอ' ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้จัดรายการข่าวคนดัง ช่วงหนึ่งได้นำกีตาร์ออกมาเล่นและร้องเพลง “ลมหายใจ” ของบอย โกสิยพงษ์ หลังจากนั้นก็กลายเป็นกระแสมียอดผู้ชมทะลุล้าน ต่อมา 'เอ้ BOTCASH' ศิลปินนักแต่งเพลงแนว EDM...

เรื่องที่เกี่ยวข้อง