88 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยามและข้อเสนอเบญจลักษณ์สยามประเทศไทย 2570

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวเปิดงาน เสวนาทางวิชาการออนไลน์ผ่านเพจสถาบันปรีดี พนมยงค์และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง 88 ปี 2475 ความทรงจำของสามัญชน โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรก เสวนาทางวิชาการ เรื่อง จากราชดำเนินถึงกวางจู: สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง

ช่วงที่สอง เรื่อง “2475: ความรู้ ความทรงจำและสถานการณ์ปัจจุบัน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในการกล่าวเปิดงานที่จัดโดย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจได้พูดถึง อนาคตของประเทศไทยและข้อเสนอเบญจลักษณ์สยามประเทศไทย 2570 ความว่า แม้นว่าประเทศไทยของเราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาเป็นเวลาถึง 88 ปีแล้วก็ตาม แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่ตั้งมั่นและไม่มั่นคง มีการรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง มีการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 20 ฉบับ สังคมไทยจึงไม่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมายหรือการปกครองโดยรัฐธรรมนูญได้ โครงสร้างของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงจึงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ฟังเสียงประชาชน

ทุกๆครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ระยะเวลายาวนานถึง 88 ปีที่สยามก้าวสู่ยุคใหม่เปิดศักราชประชาธิปไตยแต่ก็ยังไม่สามารถก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ และ ประเทศก็หาได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และในปีนี้จะมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้างจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

นายอนุสรณ์ กล่าวบรรยายอีกว่า ประเทศยังไม่สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ประชาธิปไตยก็ไม่มั่นคง ประชาชนไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ติดกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางมากกว่า 3 ทศวรรษ การก้าวพ้นจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่ประเทศรายได้ระดับปานกลางของไทยก็ใช้เวลายาวนานกว่า 50-60 ปี อันเป็นผลจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ

จึงขอเสนอข้อเสนอ เบญจลักษณ์รัฐสยามประเทศไทย 2570 เป็นการต่อยอดจากร่างยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2575 ที่ตนได้เตรียมร่างและจัดสัมมนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการปฏิรูปประเทศไทยเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2549 ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่ร่างวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เพื่อมีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2575 ครบรอบ 100 ปีของการอภิวัฒน์สยามนั้นมีความเป็นไปไม่ได้แล้ว จึงเสนอวิสัยทัศน์และแนวทาง “เบญจลักษณ์รัฐสยามประเทศไทย 2570″ แทน เพื่อสามารถพัฒนาให้มีลักษณะเบื้องต้น 5 ประการแล้วจึงพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูง ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับต้นๆของโลกในปี พ.ศ. 2580

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวขยายความและบรรยายต่อว่า ข้อเสนอเรื่อง เบญจลักษณ์รัฐสยามประเทศไทย 2570 มีรายละเอียดดังนี้
ข้อหนึ่ง สังคมภราดรภาพนิยมและสันติสุข
ข้อสอง เศรษฐกิจดุลยธรรม ผสมผสานเศรษฐกิจเสรีนิยมแบบตลาดกับข้อดีของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง และต้องลดอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจในระบบ เพิ่มการแข่งขัน ลดความเหลื่อล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม ข้อสาม รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน มีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง และ ยึดมั่นในหลักการนิติธรรม
ข้อสี่ การก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง มุ่งสู่ ประเทศพัฒนาแล้ว ลักษณะสุดท้าย ข้อห้า ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบกระจายศูนย์ เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยสามารถนำ “แนวคิดภราดรภาพนิยม” มาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ แนวคิดภราดรภาพนิยมเองสอดคล้องกับหลักธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้โดยไม่แปลกแยก

แนวคิดนี้พยายามประสานประโยชน์มากยิ่งกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เลือกทางสายกลาง แนวคิดภราดรภาพนิยม มองว่า มนุษย์เกิดมาต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน การที่เราร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลงย่อมเป็นผลจากกระทำของผู้อื่น หากยึดถือแนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองกันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

แนวคิดภราดรภาพนิยมเชื่อถือว่า มนุษย์ต่างมีหนี้ธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบการเศรษฐกิจ มีเราคิดถึงผู้อื่นและมีภาระที่ต้องช่วยเหลือกันและร่วมกันในการกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจ ย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย แนวคิดภราดรภาพนิยมนั้นอยู่บนหลักคิดแบบสังคมนิยมที่มิได้ปฏิเสธกลไกตลาดหรือเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง ดังปรากฎในเค้าโครงเศรษฐกิจเขียนไว้ว่า

“การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ จะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และ หากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสีย ดังเช่น ให้เอกชนประกอบการ ที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเอง จะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้”

แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด เค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้ ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้าง การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง” จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม บวกกับ หลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม แนวคิดภราดรภาพนิยม เป็น ส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความคิด สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเพื่อชาติและราษฎร”
ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสยามช่วงอภิวัฒน์ 2475 จนกระทั่งถึงช่วงที่ไทยได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มาใช้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงที่สำคัญ ช่วงแรก การปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎรและการแก้ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (พ.ศ. 2475-2484) ช่วงที่สอง คือ เศรษฐกิจเงินเฟ้อสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2484-2488) ช่วงที่สาม เศรษฐกิจยุคชาตินิยมภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เศรษฐกิจสยามอยู่ในภาวะซบเซาอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สยามจะต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาการส่งออกตกต่ำ ปัญหาฐานะทางการคลังของรัฐบาลและหนี้สาธารณะ ปัญหาการผลิตข้าวและหนี้สินของชาวนาและกรรมกรในเมือง
ปัญหาตกต่ำทางเศรษฐกิจก่อนการอภิวัฒน์ อันเป็นผลจากการตกต่ำของการส่งออก ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลและวิกฤติฐานะการคลัง ปัญหาการผลิตข้าวและหนี้สินชาวนา และอิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยและการกำหนดนโยบาย การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่หลังการอภิวัฒน์จึงดำเนินการภายในกรอบนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจและทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ในเวลาต่อมาเค้าโครงเศรษฐกิจที่นำเสนอโดย ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม
ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปัญหาทางเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไปแล้วและปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาก่อนหน้านี้ยังคงรอวันแก้ไข และกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลด้วย

วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของคณะราษฎร ส่วนหนึ่งคือการมอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างนโยบายเศรษฐกิจของคณะราษฎร หรือที่เรียกกันว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจ เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการปรับปรุงการแบ่งปันผลผลิตในสังคม คือ มุ่งที่จะใช้ทรัพยากรการผลิตให้เต็มที่ ด้วยการแปลงกระบวนการผลิตของไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมโดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนดำเนินการ ในขั้นแรกในรูปของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งในนโยบายการพึ่งตนเองเป็นหลัก ปราศจากการครอบงำของต่างชาติและกำจัดความเหลื่อมล้ำของผู้คนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ คือ เสนอให้มีการโอนกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นของรัฐในเรื่องปัจจัย การผลิตทั้งที่ดินและทุนรวมทั้งให้รัฐกำกับการใช้ปัจจัยเหล่านั้น การโอนให้แก่รัฐจะได้ผลตอบแทนในรูปพันธบัตรเงินกู้

ปัจจัยการผลิตที่รัฐโอนมาจะถูกนำไปแจกให้ราษฎรทำกิน ตามกำลังสติปัญญาของแต่ละครอบครัว ทุนและโรงงานก็เช่นเดียวกัน รัฐจะยอมให้เอกชนครอบครองและดำเนินการ ส่วนกิจการที่ครอบครองโดยชาวต่างประเทศจะดำเนินต่อไปได้ โดยรัฐบาลจะให้สัมปทานเป็นคราวๆไป (พอพันธ์ อุยยานนนท์ 2542: 274-275)

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรมีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆแต่ข้อเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลืองได้รับการต่อต้านจากอำนาจอนุรักษ์นิยมและขุนนางเก่ารวมทั้งบางส่วนของคณะราษฎร ภายใต้บริบทของประเทศไทยในเวลานั้นมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยมมีปัญหาวิกฤตการณ์ แนวความคิดแบบสังคมนิยมแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น มีการพึ่งพาตัวเองทางด้านเศรษฐกิจของชาติต่างๆ อาชีพส่วนใหญ่ของคนไทย คือ ชาวนา (81%) และข้าราชการ ราษฎรส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวนายังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดินมีน้อย ต้องเสียอากรการเช่านา และมีการเก็บเงินรัชชูปการที่ไม่เป็นธรรม หลวงประดิษฐ์มนูธรรรม ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2476 โดยมุ่งหมายที่จะให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจตามหลักเอกราชทางเศรษฐกิจซึ่งเป็น 1 ใน หลัก 6 ประการ ซึ่งเขียนไว้ใน “หมวดที่ 1 ประกาศของคณะราษฎร” ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ (อิสริยา บุญญะศิริ และ อนุสรณ์ ธรรมใจ)

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึง คุณูปการของคณะราษฎร 2475 ว่า หากไม่มีความกล้าหาญเสียสละและยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อราษฎรของสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 102 ท่าน หากไม่มีคณะผู้ก่อการคณะราษฎร 7 ท่าน ประเทศก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบการปกครองที่ใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 88 ปีที่แล้ว และ เปลี่ยนแปลงสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็น “วันชาติ” ควรถูกรื้อฟื้นให้มีความรำลึกถึงอีกครั้งหนึ่งด้วยการประกาศให้เป็นวันหยุดในฐานะวันสำคัญของชาติเช่นในอดีตและควรมีการจัดงานรัฐพิธีเพื่อเฉลิมฉลองวันดังกล่าวด้วย ขอท่านทั้งหลายพึงรำลึกถึงบุญคุณของ “คณะราษฎร” บรรพชนสามัญชนของพวกเราทั้งหลายพร้อมกับรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชการที่เจ็ดได้พระราชทาน รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 การที่ “ขบวนการประชาธิปไตย” จะบรรลุเป้าหมายในการนำพาประเทศสู่การพัฒนาแล้ว ประชาชนมีคุณภาพที่ดีนี้จำเป็นต้องมีเอกภาพ มียุทธศาสตร์ ความเสียสละและความกล้าหาญของสมาชิกในขบวนการ ขบวนการประชาธิปไตยที่ยึดถือแนวทางสันติธรรมจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าโดยปราศจากความรุนแรง และ การทำให้เกิดค่านิยมในการเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของคนอื่นและเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ สังคมจะมีความปรองดองสมานฉันท์และสันติสุข การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ได้แล้ว ต้องทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เป็นกติกาสูงสุดที่ทำให้อำนาจเป็นของราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันที่แสดงถึงอำนาจของประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจน