“อนุสรณ์”วิเคราะห์นโยบายแบงค์ชาติกรณีสั่งงดจ่ายเงินปันผล

จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล เป็นผลให้มีนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในเรื่องนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย

แม้นเห็นด้วยมาตรการแบงก์ชาติ แต่ห่วงความตื่นตระหนก และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด หากปล่อยให้สมาคมธนาคารไทย หรือธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจเองจะดีกว่า แต่ก็สนับสนุนมาตรการงดจ่ายเงินปันผล และการซื้อหุ้นคืนของสถาบันการเงินเพื่อความเข้มแข็งของฐานเงินทุนและสภาพคล่องเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้เสียภาคการเงินในอนาคต

ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเสียสละผลประโยชน์เพื่อให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งฝ่าวิกฤติไปได้ และจะทำให้ได้รับเงินปันผลในราคาที่ดีขึ้นในอนาคต พร้อมเตือนมาตรการอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากภาวะตื่นตระหนก นักลงทุนอาจสูญเสียความมั่นใจ และเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมากซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินภาพรวม อาจเป็นผลต่อ Wealth Effect ของนักลงทุนในทางลบ

ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าเดิมได้ ประกาศของแบงก์ชาติอาจช่วยลดความไม่พอใจของนักลงทุนต่อผู้บริหารและกรรมการธนาคารพาณิชย์แต่จะทำให้ตลาดการเงินตีความสถานการณ์เศรษฐกิจ และภาวะการเงินในทางเลวร้ายซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา ตลาดหุ้นลงแรงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้

ทางเลือกนโยบายการเงินที่ต้องทำควบคู่การสั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผล คือ ลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% หรือใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบหากจำเป็น และทำ unsterilized FX open market intervention ต้องเน้นไปดูมาตรการมหภาค มากกว่า มาตรการจุลภาค ซึ่งส่งผลบวกในการดูแลเศรษฐกิจมากกว่า

พร้อมทั้งฝากแก้ปัญหาผู้ขอสินเชื่อรายย่อยที่ฐานะทางการเงินไม่ดีถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคารเนื่องจากมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยทำให้ไม่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกค้า คนจำนวนหนึ่งต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อในระบบอย่างมาก นำไปสู่กับดักความเป็นหนี้สิน ถูกเอาเปรียบ และ ไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลได้เท่ากับสินเชื่อในระบบ