กรมปศุสัตว์ ร่วมคณะ รมช.ไชยา ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ติดตามผลการดำเนินงานนาวังโมเดล พร้อมพบปะเกษตรกร และร่วมเป็นสักขีพยานลงนาม MOU ซื้อขายข้าวโพดพร้อมฝักหมัก

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ติดตามคณะ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภู จำกัด อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าวโพดพร้อมฝักหมัก ระหว่างสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภู จำกัด กับร้านอุดมโชค เกษตรภัณฑ์ พร้อมทั้งพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผู้ประกอบการ โดยได้มอบเมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่จำนวน 100 ถุง กระถินจำนวน 100 ถุง ถั่วคาวาลเคดจำนวน 100 ถุง และเมล็ดข้าวโพดจำนวน 400 ถุง ให้แก่เกษตรฯ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานของสหกรณ์ และหน่วยงานที่บูรณาการเพื่อขับเคลื่อนนาวังโมเดลที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเดือนธันวาคม 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567 และติดตามแผนการดำเนินงาน “นาวังโมเดล” เดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม 2567 อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมการแปลงสาธิตการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดพร้อมฝัก ณ บ้านนากลาง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยรมช.ไชยา ได้ทดลองขับรถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดพร้อมฝักด้วยตนเอง และเยี่ยมชมกิจกรรมการเลี้ยงโคนมของฟาร์มต้นแบบนาวังโมเดล และการสาธิตการผลิตข้าวโพดพร้อมฝักหมักชนิดอัดก้อน บรรจุถุง และบรรจุบ่อหมัก ณ อรจิราฟาร์ม จังหวัดหนองบัวลำภู

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาวะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นสาเหตุจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมของสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภูจำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางส่วนเลิกเลี้ยงหลังจากประสบปัญหาสภาวะขาดทุนจากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีนโยบายในการหาแนวทางเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น จากกลไกการตลาดของราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่ายงานราชการวางแผนกำหนดโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ด้านนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์วิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้แม่โคนมได้รับอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบลดลง กรมปศุสัตว์จึงได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรโคนม

ภายใต้วิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพง หรือ “นาวังโมเดล” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเป็นโมเดลการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน อาทิ หน่วยงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ภาคเอกชน ตลอดจนตัวของเกษตรกรทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการรับความรู้ เทคนิคต่างๆ ตลอดจนนำไปปฏิบัติภายในฟาร์ม จนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจ โดยเริ่มโครงการฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกษตรกรนำข้าวโพดพร้อมฝักหมัก มาใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบคุณภาพดีสำหรับการเลี้ยงโคนมในพื้นที่อย่างเพียงพอ ซึ่งผลจากการติดตามการดำเนินงานของโครงการ “นาวังโมเดล” พบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ความยอมรับในการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคนมของตนเอง ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบของฟาร์มและภาพรวมของสหกรณ์เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบที่มาตรฐานกำหนด ตลอดจนสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ตั้งไว้ในเบื้องต้น

การจัดตั้ง “นาวังโมเดล” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกที่ยังมีการดำเนินการเลี้ยงโคนม จำนวน 14 ราย ได้เห็นถึงความสำคัญของการให้อาหารโคนม ด้วยการให้คำแนะนำการคำนวณโภชนะในสูตรอาหารอย่างแม่นยำ แนะนำให้มีการจัดสัดส่วนอาหารสัตว์โดยให้กินอาหารหยาบคุณภาพดีมากขึ้นและลดการกินอาหารผสมสำเร็จรูปที่มีราคาแพงลง แต่โคนมยังคงได้รับโภชนะที่เพียงพอ มีการใช้ต้นข้าวโพดพร้อมฝักหมักเป็นวัตถุดิบอาหารหยาบคุณภาพดีสำหรับโคนม ซึ่งผลการดำเนินงาน “นาวังโมเดล” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าปริมาณน้ำนมดิบปรับเพิ่มขึ้น 12.6% ปัจจุบันได้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 13.21 กิโลกรัม/ตัว/วัน ต้นทุนค่าอาหารต่อน้ำนมดิบ 1 กิโลกรัมเท่ากับ 9.23 บาทหรือลดลง 6.6% และรายได้ของฟาร์มเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 80.7%

“ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงส่งเสริมและขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นข้าวโพดพร้อมฝัก ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจำหน่ายให้กับฟาร์มโคนม ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโคนมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอาชีพปลูกพืชอาหารสัตว์จำหน่ายให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *