“เศรษฐา” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา สส.ฝ่ายค้าน-สว. รุมชำแหละ “ไม่ตรงปก-คลุมเครือ”

วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาล จากนั้น สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ต่างอภิปรายคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ไม่ตรงปก” อย่างที่เคยหาเสียงเอาไว้ แถมยังคลุมเครือ ทั้งขาดรายละเอียด ตัวชี้วัด และที่มาของงบประมาณ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ วันแรก โดยการแถลงนโยบายครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กันยายน โดยใช้เวลา 30 ชั่วโมง แบ่งเป็น ครม. 5 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 5 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง โดยจะประชุมระหว่างเวลา 09.00 – 24.00 น.

สรุปคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ใช้เวลาราว 50 นาที) ดังนี้

  • นโยบายกรอบระยะสั้น ได้แก่ กระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
  • นโยบายกรอบระยะกลาง-ยาว 

1. สร้างรายได้เปิดประตูการค้า เจรจา FTA ยกระดับ Passport ไทย

2. พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อุตสาหกรรมสีเขียว-เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมสตาร์ทอัพ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ

3. สร้างรายได้เกษตรกรรม การประมง และปศุสัตว์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

  • นโยบายเร่งด่วน 

1. แก้ปัญหาหนี้สิน พักหนี้เกษตรกร-ประดองภาระหนี้สิน SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

2. ลดภาระค่าพลังงาน ไฟฟ้า-ก๊ซหุงตัม-น้ำมัน

3. เร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

4. มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

5. ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ

  • นโยบายสร้างและขยายโอกาส 

1. ประชาชนมีสิทธิในที่ดินพิจารณาเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนด

2. เปลี่ยนรัฐที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบให้เป็น “ผู้สนับสนุน”

3. ผลักดัน “รัฐบาลดิจิทัล”

4. ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 Soft Power ปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมงานวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  • นโยบายสร้างคุณภาพชีวิต 

1. พัฒนาหน่วยงานความมั่นคง-กองทัพให้ทันสมัย เช่น เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ และลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง

2. ปราบปรามยาเสพติด/ยึดทรัพย์ผู้ผลิตและผู้ค้า/เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย

3. ดูแลสิ่งแวดล้อม อากาศที่สะอาดสำหรับทุกคน

4. ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค

5. ดูแลคนทุกกลุ่มด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ”

6. ผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียม

อ่านคำแถลงฉบับเต็ม: https://www.thaigov.go.th/ebook/contents/detail/231#book/

ด้านฝ่ายค้าน อย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุในตอนหนึ่งว่า หากตัดเกรดคำแถลงนโยบาย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เท่ากับ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ชี้เป็น ‘Wish List’ หรือคำอธิษฐานที่ ว่างเปล่า ไม่มีตัวชี้วัด เป็นการแถลงนโยบายของ ‘เพื่อไทย’ ที่มาตรฐานตกเมื่อเทียบกับคำแถลงนโยบายในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งยังมีรายละเอียดและตัวชี้วัดดีกว่า

“ถ้าบอกว่า GPS ประเทศนี้คงหลงทาง มีแต่คำอธิษฐานลอยๆ ขาดความชัดเจน คำแถลงนโยบายรัฐบาล คือสัญญาประชาคม จำเป็นต้องชัดเจน มีเป้าตัวชี้วัด ให้ประชาชนตรวจสอบได้ บรรจุนโยบายหาเสียงไว้ ซึ่งถ้าให้ตนตัดเกรด ให้อยู่เกรดให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจดีกว่า เพราะยาวกว่า” 

ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา ยังชำแหละนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ อย่างละเอียดโดยชี้ว่า ไม่มีการบอกแหล่งที่มาของเงิน และเป็นการหวังน้ำบ่อหน้า

ส่วนฝ่ายค้านอีกพรรคอย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้อภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาล โดยชี้ว่า นโยบายรัฐบาลเป็นนโยบายนินจา ที่เคยหาเสียงไว้แต่หายไปอย่างไร้ร่องรอย เช่น นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท รถไฟฟ้า 20 บาท เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท

“มาตรฐานของนโยบายชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกรัฐมนตรีจริงๆ การตั้งโจทย์ประเทศคลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน และฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรม และนโยบายที่นายกฯ แถลงกับตอนหาเสียงเป็นหนังคนละม้วน กลายเป็นนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่วิจารณ์กัน” นายจุรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บรรดา สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ต่างตั้งคำถามตรงกัน 2 ข้อคือ รูปแบบดำเนินการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ นั้นจะใช้แพลตฟอร์มใด และใช้งบประมาณจากแหล่งใด ใช้เงินในงบประมาณหรือนอกงบประมาณแผ่นดิน เพราะในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรค พท. แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การดำเนินโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะใช้งบประมาณราว 560,000 ล้านบาท โดยใช้การบริหารระบบงบประมาณปกติและบริหารระบบภาษี มีที่มาจาก 4 แหล่ง

1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท

2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท

3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท

4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทถือว่าเป็นนโยบายที่ชาญฉลาด กล้าหาญ แต่ก็แฝงความสุ่มเสี่ยง จากการเทงบประมาณมหาศาลเทียบเท่างบลงทุนของหนึ่งปีงบประมาณลงไป โดยแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อแหล่งที่มาของเงินมีปัญหา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไปแตะสินทรัพย์อื่นของประเทศ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศ “เหมือนในอดีตพรรคของท่านแถลงนโยบายบอกว่าจะบริหารสินทรัพย์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอนนั้นมีแนวคิดจะตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่ที่สุดตั้งไม่ได้ในช่วง 4 ปี”

อีกประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาหยิบยกมาอภิปรายคือ ราคาพลังงาน ซึ่งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ระบุว่าจะลดค่าไฟและลดค่าน้ำมันอย่างไร นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ระบุว่า มีการเขียนไว้ในคำแถลงนโยบาย “ไม่ถึง 10 บรรทัด” และ “มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ”

“คำแถลงรัฐบาลประยุทธ์ที่ว่าแย่ ยังดีเสียกว่า” นายศุภโชติกล่าวและว่า “พวกท่านกำลังทำอะไรอยู่ นโยบายไม่มีรูปธรรม หรือเลี่ยงการผูกมัดตัวเอง”

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *