“ส่วยมูโนะ” ตอกย้ำ “ทำไม กอ.รมน.จึงควรถูกยุบ” เปิดแผลกองทัพภาค 4 ไร้ฝีมือ!?

จากการแฉกลางสภาของ ‘วิโรจน์’ ตัวตึงแห่งพรรคก้าวไกล ที่ตั้งคำถามจนสะเทือนถึง กอ.รมน. ต่อมาตรการภาครัฐ ถึงเหตุการณ์พลุระเบิดที่มูโนะ จ.นราธิวาส เหตุใดโกดังเถื่อนแห่งนี้จึงเล็ดรอดการตรวจสอบ ทั้งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง!?

ประเด็นเรื่อง ‘ส่วยมูโนะ’ พรรคก้าวไกลได้หยิบยกขึ้นมาเปิดโปงและตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่อยู่ในเพจเฟซบุ๊กทางการ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party  ว่านี่คือหนึ่งในรูปธรรมของการกดขี่รีดไถ ที่บั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ท้ายที่สุดหากไม่แก้ไข อาจกลายเป็น ‘พลุที่สุมอยู่ในจิตใจผู้คน’ รอวันระเบิด

การระเบิดของโกดังพลุที่ ต.มูโนะ จ.นราธิวาส เมื่อ 29 ก.ค. 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บกว่า 121 ราย บ้านเรือนเสียหาย 200 หลัง มีการตรวจพบดินดำที่เป็นส่วนผสมของพลุที่เก็บไว้ในโกดัง ซึ่งมีมากถึง 2-3 คันรถสิบล้อ มีน้ำหนักรวมกันมากถึง 5 ตัน รัศมีการทำลายล้างไกลถึง 2 กิโลเมตร

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามผ่านการอภิปรายในญัตติด่วนด้วยวาจา การประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อ 3 ส.ค. ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นไปได้หรือที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จะไม่รู้-ไม่เห็น

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2559 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้กฎอัยการศึกบุกตรวจโกดังสินค้า 5 แห่ง ยึดดอกไม้เพลิงกว่า 60 ตัน จำนวน 30 ตัน ยึดได้จากโกดัง 2 ห้อง ที่ ต.มูโนะ เจ้าของโกดังเป็นคนคนเดียวกันกับเจ้าของโกดังพลุที่ระเบิดเมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา เคยถูก กอ.รมน. จับกุม แต่อัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง!

ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จะไม่รู้เห็นว่ามีโกดังเก็บพลุในปริมาณมหาศาลขนาดนี้ อยู่ที่ใจกลางชุมชน

นอกจากนี้เมื่อ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ให้กำชับและตรวจสอบโรงงานและโกดังผลิตพลุดอกไม้เพลิง

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 อธิบดีกรมการปกครอง ทำหนังสือเร่งรัดอีกฉบับหนึ่ง สั่งให้นายอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศเร่งตรวจสอบ แต่ต่อให้ทำหนังสืออีกกี่ฉบับ ก็หาโกดังแห่งนี้ไม่เจอ!! เพราะอะไร??

โกดังเถื่อน ไม่มีใบอนุญาต

เพราะโกดังแห่งนี้ไม่ได้ขออนุญาตเก็บดอกไม้เพลิง และถึงแม้จะทำเรื่องขออนุญาต ก็ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เนื่องจากตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547 กำหนดให้อาคารที่ผลิตดอกไม้เพลิงต้องไม่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน กำหนดระยะห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 20 เมตร อาคารต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ และห้ามทำการใดๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟ หากจำเป็นต้องทำ ต้องอยู่ห่างออกไปอย่างน้อย 15 เมตร ซึ่งโกดังที่เกิดเหตุทำทุกอย่างสวนทางกับประกาศฉบับนี้

คำถามต่อไปคือ เจ้าของโกดังไม่เกรงกลัวกฎหมายเลยหรือ แต่จะกลัวทำไมในเมื่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน มาตรา 77 ถ้าเปิดโกดังเก็บพลุเถื่อน ตั้งโรงงานผลิตดอกไม้เพลิงเถื่อน จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 พันบาทเท่านั้น

สามีภรรยาเจ้าของโกดังพลุเถื่อนที่มูโนะ
จ่า ฟ. ผู้เก็บส่วยส่ง “นาย”

ส่วยมูโนะ กับ จ่า ฟ.

วิโรจน์เชื่อว่าผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส และแม่ทัพภาค 4 คงทราบดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ตำบลมูโนะ เป็นพื้นที่ที่มีธุรกิจสีเทาชุกชุม ทั้งสินค้าหนีภาษี ยาเสพติด การค้าแรงงานเถื่อน คำถามคือพื้นที่ตรงนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่หรือไม่ และใช้เพ่งเล็งเฉพาะประชาชนหรือไม่ ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ไม่ถือเป็นภัยความมั่นคงหรืออย่างไร ที่ผ่านมามีข้อครหาว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์ มีการเก็บส่วย ส่งต่อให้นายเป็นทอดๆ กรณีโกดังพลุระเบิดครั้งนี้ ขอฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ถ้าจะตัดตอนแค่เจ้าของโกดัง ประชาชนคงยอมรับไม่ได้ ต้องสอบสวนในประเด็นส่วยและการเรียกรับผลประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะกรณี “จ่า ฟ.” ที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพื้นที่ เป็นคนที่คอยเก็บส่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ทราบว่าย้ายออกนอกพื้นที่ไปแล้ว แต่ประชาชนเกรงว่าจะย้ายแค่พอเป็นพิธี ก่อนจะย้ายกลับมาอีกครั้ง

“ถ้าปล่อยให้การกดขี่รีดไถยังเป็นแบบนี้ คนในสามจังหวัดและนราธิวาสจะรู้สึกอย่างไร การรีดไถเช่นนี้คือชนวนแห่งความขัดแย้งที่แท้จริง ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” วิโรจน์ระบุ

รัฐบาลต้องแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ – ปราบส่วยจริงจัง

สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ คือการแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืน ปรับอัตราโทษกรณีไม่ขออนุญาตผลิต สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง ให้รุนแรงขึ้น มีระบบการลงทะเบียนปริมาณและยอดคงเหลือของดอกไม้เพลิง ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโกดังและโรงงานพลุเถื่อน สำคัญที่สุดคือต้องเร่งปราบปรามส่วย การรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐที่มูโนะอย่างจริงจัง ไม่ให้คนเหล่านี้อาศัยอำนาจรัฐกดขี่ประชาชนต่อไป

“พลุไม่ได้อยู่แค่ในโกดัง พลุวันนี้สุมอยู่ในใจคน ถ้ามันโดนกด โดนขี่มากๆ ไม่แคล้วสักวันก็ระเบิดออกมา” วิโรจน์ทิ้งท้าย

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสูญเสียที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในชุมชนแล้ว ยังเปิดแผลให้เห็นถึง “ความละโมบ” ของนายทุนที่มีเบื้องหลังจาก “ความฉ้อฉล” ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง ผ่านการจ่าย “ส่วย” ในพื้นที่ ไม่แปลกที่คำถามมากมายจะพุ่งไปที่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ กองทัพภาคที่ 4  รวมถึงตำรวจและฝ่ายปกครองที่เกี่ยวพันกับส.ส.จากพรรคการเมือง “สายลุง” พรรคหนึ่ง

ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานเหล่านี้ทำงานกันแบบไหน? ถึงปล่อยให้พื้นที่สีแดงที่เข้มข้นด้านความมั่นคงเป็นพิเศษอย่าง “ตลาดมูโนะ” ย่านการค้าใหญ่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่แค่ข้ามแม่น้ำก็ถึงกันแล้ว กลับกลายเป็นคลังแสงเก็บวัตถุระเบิดจำนวนมหาศาล ที่สามารถนำไปใช้ก่อเหตุหรือก่อวินาศกรรมได้ง่ายๆ

“ตลาดมูโนะ” เป็นที่รู้กันดีว่าคือแหล่ง “จ่ายส่วย” ที่มี “จ่า ฟ.” เป็นขาใหญ่เรียกเก็บส่วยเพื่อจัดสรรส่งต่อไปตามลำดับให้แก่บรรดา “นาย” ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ จนท.ในพื้นที่เฝ้าระวังชายแดน และชุดการข่าวของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่ ก็ล้วนแต่รู้กันดีแก่ใจว่า ส่วยนี้มีอยู่จริงและมีมานานแล้

คำถามคือ นายทหารผู้มีอำนาจลดหลั่นมาตามลำดับสั่งการในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะไม่รับรู้เลยหรือว่า ตลาดมูโนะมีโกดังเถื่อนที่เจ้าของโกดัง ‘สองสามีภรรยา’ เคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปี 2559 ที่น่าแปลกก็คือ ถูกจับโดยทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เสียด้วย! แต่ทั้งสองคนกลับพ้นข้อกล่าวหาไปได้ จนกลับมาสร้างโกดังเก็บพลุส่งไปขายมาเลเซียจนใหญ่โตกว่าเดิมหลายเท่า กระทั่งขึ้นเป็น “ขาใหญ่นายหนุน” ของวงการ

เป็นไปได้หรือ? ที่ชาวบ้านในชุมชนต่างก็รับรู้และส่งเสียงร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ-ทหาร หลายครั้งหลายครา ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนของพวกเขา อย่างที่ครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปแทบยกบ้าน ทั้งที่เคยร้องเรียนจนท.รัฐมาแล้ว แต่ก็ถูกเพิกเฉยละเลย เพราะกลัวจะกระทบรายได้จากการ “จ่ายส่วยรายเดือน” หรืออย่างไร? นี่จึงเป็นคำถามที่คนในสังคมต่างตั้งข้อสงสัย

เหตุโกดังพลุระเบิดที่มูโนะ ไม่ใช่แค่ช่วยตอกย้ำเรื่อง “การจ่ายส่วยเถื่อน” ทั้งโกดังเถื่อน สินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน ว่ามีอยู่จริงอย่างยากจะปฎิเสธ แต่ยังช่วยตอกย้ำเหตุผลที่ว่า “ทำไมหน่วยงานทหารอย่าง กอ.รมน. ถึงควรถูกยุบ” เพราะความไร้ประสิทธิภาพในการดูแลความมั่นคง ทั้งเปล่าเปลืองงบประมาณที่หมดไปปีละกว่า 10,000 ล้าน แถมยังเป็นหน่วยงานตกยุคที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น

เป็นหน่วยงานตกยุคไร้ประสิทธิภาพที่มีบุคลากรมากล้นหลายหมื่นคน ทั้งหน่วย IO และเหล่า “บัญชีผี” ที่คอยสูบกินภาษีประชาชน และยังสูบกินส่วยอย่างเบิกบานมาตลอดหลายทศวรรษ โดยที่ไฟใต้ไม่เคยดับ สินค้า,โกดังเถื่อนไม่เคยถูกปราบจริงจัง ส่วยไม่เคยลด ที่ลดลงมีแต่งบประมาณแผ่นดินกับชีวิตผู้คนในพื้นที่ที่ต้องสูญเสีย….เท่านั้น!

 

รายงาน: ฮัลวา ตาญี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *