พายุหมุนเขตร้อนมาแล้ว ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำไหลหลาก 12 – 14 พ.ค.นี้ พื้นที่ไหนบ้างไปเช็คด่วนๆ !!

กอนช. เตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองระบายไม่ทัน ในช่วงวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่ปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน โดยคาดว่าจะเคลื่อนผ่าน อ่าวเบงกอลตอนกลางและทะเลอันดามันตอนบน ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองระบายไม่ทัน ในช่วงวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2566 ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวิเชียรบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอคำม่วง ท่าคันโท ยางตลาด และห้วยเม็ก) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น กระนวน ชุมแพ น้ำพอง และพระยืน)  จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอแก้งคร้อ และภูเขียว) จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอนาดูน และพยัคฆภูมิพิสัย) จังหวัดยโสธร (อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว และมหาชนะชัย)จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู)จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ และราษีไศล) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร และม่วงสามสิบ)

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสทนช.

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำนองระบายไม่ทัน
  2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *