“สสส.-มหิดล” ชูนวัตกรรมแนวคิด MIDL 4 ด้าน เสริมเกาะป้องกันเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ ห่วงเด็กเข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัยเพียง 56 %

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) จัดงานแถลงผลสำรวจและการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเป็นพลเมืองดิจิทัลของเด็กไทยวัยเรียนในยุค New Normal” ภายใต้โครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6-12 ปี ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สื่อ เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะของคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะยุคสื่อดิจิทัลที่ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้างและผู้รับสื่อ จึงควรปลูกฝังเด็กไทยให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเน้นทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สู่การเป็น “พลเมืองดิจิทัล” เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ ช่องทางสื่อ การสนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ และการพัฒนานโยบาย เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ

“สสส. ได้สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำการสำรวจโดยใช้นวัตกรรมแนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ว่าด้วยกรอบสมรรถนะ 4 ด้าน ได้แก่ 1. เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย 2. วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3. สร้างสรรค์เนื้อหา และ 4. ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคม ที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญ พร้อมออกแบบและสร้างเครื่องมือในรูปแบบแอนิเมชัน สีสันสดใส เข้าใจง่าย เหมาะสมกับพฤติกรรมและความสนใจของเด็ก ความน่าเป็นห่วงคือ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) พบเด็กเป็นทั้งผู้กระทำและเหยื่อจากการถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการพบเห็นภาพโป๊เปลือย และเว็บไซต์การพนัน สิ่งสำคัญคือความใส่ใจของผู้ปกครองในการกำกับดูแลการเข้าใช้สื่อของเด็ก ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลระดับประเทศ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6-12 ปี ได้ดำเนินการสำรวจผ่านเว็บไซต์ www.midlkids.com ในโรงเรียนทั่วประเทศไทย 63 โรง มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมตอบแบบสำรวจ 2,609 คน พบว่า เด็กช่วงอายุ 6–8 ปี มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 73 ส่วนเด็กช่วงอายุ 9–12 ปี มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 76 การสำรวจถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้านตามกรอบสมรรถนะ ได้แก่ ด้านที่ 1 เข้าถึงสื่อ สารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยอยู่ที่ร้อยละ 56 ด้านที่ 2 วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินอยู่ที่ร้อยละ 73 ด้านที่ 3 สร้างสรรค์เนื้อหาและข้อมูลอยู่ที่ร้อยละ 86 และ ด้านที่ 4 ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 71 ผลการสำรวจจึงชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยควรได้รับการพัฒนาทักษะการเข้าถึงสื่อ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย รวมถึงการผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบต่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กไทยเกิดความฉลาดทางดิจิทัล สามารถใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. กล่าวว่า การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย เพื่อเติบโตเป็น “พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)” มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมของสังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเตรียมพร้อมประชาชนสู่อนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความซับซ้อน เป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อน ดังนั้นประเทศไทยต้องมีนโยบาย และมาตรการที่เป็นองค์รวม ครอบคลุมเด็กและประชาชนทุกช่วงวัยและหลากหลายกลุ่ม และดึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ

สำหรับการวิจัยครั้งนี้มีที่ปรึกษาเข้าร่วม อาทิ ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สพฐ. ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย