ไซยาไนต์ทูตมรณะคดี “แอม”ฤทธิ์ร้ายตายเฉียบพลันมีในพืชธรรมชาติ วัตถุอันตรายที่พึงระวัง

“ไซยาไนต์” วัตถุอันตรายสร้างความตายได้แบบเฉียบพลัน จากคดีสะเทือนขวัญสู่การระแวดระวังในหมู่ประชาชนที่ต้องทำความรู้จักกับทูตมรณะชนิดนี้ 
จากคดี นางสรารัตน์  รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม อายุ 36 ปี เท้าแชร์ใน จ.กาญจนบุรี ผู้ต้องหาคดีวางยาฆ่าผู้อื่น ที่กำลังเป็ยกระแสอยู่ในขณะนี้ โดยมีผู้เสียชีวิตที่อาจเกิดจากการฆาตรกรรมโดยการวางยานับ 10 ราย และทางกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 ได้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ
แต่คำถามสำคัญจากสังคมเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น จาก “ข่าวแอม” คือเรื่องราวของ “ไซยาไนต์” ทูตมรณะในคดีนี้ ซึ่งทางผู้ต้องหาได้นำไปฝากไว้กับกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งหลังจากก่อเหตุ และกลายเป็นการตั้งคำถามจากสังคมที่เริ่มหันมาให้ความสนใจ ว่า “ไซยาไนต์” คืออะไร และ มีฤทธิ์รุนแรง รวมถึงการหาซื้อทำได้ยากง่ายมากน้อยเพียงใด
เพจหมอแล็บแพนด้า เปิดเผยถึง รายละเอียดเกี่ยวกับ “ไซยาไนต์” โดยระบุว่า “โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide)  เป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดีมาก มีกลิ่นจางๆคล้ายอัลมอนด์ มีพิษสูง แค่ได้รับ 200 – 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ทำให้เสียชีวิตได้ เป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทอง การสังเคราะห์ทางอินทรีย์ และการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า
โพแทสเซียมไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี คนร้ายมันก็เลยเอาไปใส่ในเครื่องดื่มที่มีกลิ่นกลบสารตัวนี้ได้ เช่น ชา กาแฟ เหล้า สารตัวนี้เคยถูกใช้ในสงคราม และใช้ในการก่ออัตวินิบาตกรรมมาแล้วหลายรายครับพอกินเข้าไป มันจะไปยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ ถ้าเราเรียนชีววิทยามันก็จะไประงับการสร้าง ATP นั่นแหละครับ และมันยังไปยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดทีฟฟอสโฟรีเลชันทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงาน และเกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก ผิวหนังเกิดผื่นแดง เนื่องจากเนื้อเนื่อไม่สามารถใช้ออกซิเจนจากเลือดได้ ต่อมาผู้ป่วยก็จะมีหมดสติ อาจมีอาการชัก และเสียชีวิต
cr:เพจหมอแล็บแพนด้า
อาการของคนที่ได้รับพิษไซยาไนด์จะอ่อนแรง สับสน พฤติกรรมผิดปกติ นอนมากเกินไป หายใจสั้น ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน ปวดท้อง เราดูไม่ออกหรอกครับว่าใครเจอสารพิษตัวนี้ เพราะอาการมันคล้ายกับโรคอื่นๆ หลายๆเคสก็อาจจะได้กลิ่นอัลมอนด์ หรือกลิ่นถั่วไหม้ก็ได้ ถ้ากินสารพิษนี้เข้าไป ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แล้วรีบล้างท้อง เพราะการออกฤทธิ์ของมันค่อนข้างเร็วมาก
ไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535. บทลงโทษ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สารกลุ่ม “ไซยาไนด์” (Cyanide)   ที่ควรรู้จักมี 2 ตัว  คือ
1.ของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือโพแทสเซียม ไซยาไนด์
2.สถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเมื่อเอากรด เช่น กรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์

แต่แม้ “ไซยาไนต์” จะมีโทษและเป็นวัตถุอันตราย แต่ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตไนลอน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ยังใช้เพื่อสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขณะที่ในเหมืองทองมีการใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดทอง เป็นต้น เกลือไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดี ส่วนก๊าซก็ละลายในน้ำได้ดีเช่นกัน ไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์ อาจระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ สำหรับชื่ออื่นของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ใช้เรียกกันก็มี กรดไฮโดรไซยาไนด์ และกรด ปรัสซิก เป็นต้น

นอกจากนี้ในพืชจากธรรมชาติเอง ก็มีไซยาไนต์อยู่ด้วยเช่นกัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึง การบริโภค พืชบางชนิดอาจมีผลให้ไซยาไนต์เข้าสู่ร่างกายได้ ไซยาไนด์ ที่พบในพืช เป็นสารประกอบที่มีความเป็นพิษที่พบตามธรรมชาติในพืชบางชนิด อาทิ  มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้สด ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม

มันสำปะหลัง  หากรับประทานมันสำปะหลังดิบ ในส่วนหัว ราก ใบ จะมีพิษทำให้ถึงตายได้ มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจ และทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง ถ้ากินพืชที่มีสารนี้สดๆ จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ทำให้เสียชีวิตได้ พบอาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง

การเตรียมปรุงจะเอาผิวเปลือกออก ควร บด ขูด ก่อนปรุงแล้วพิษจะออกไป การต้มโดยเฉพาะรากควรนำมาต้ม 30 – 40 นาที แล้วทิ้งน้ำที่ต้ม ถ้าเป็นใบให้ต้มมากกว่า 10 นาที ถ้าใบแก่ให้ต้มนานกว่านี้

หน่อไม้สด ควรหลีกเลี่ยงการกินหน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังปรุงไม่สุกเพราะหน่อไม้ดิบมีสารซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์มีพิษต่อร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ซึ่งกลไกของร่างกายหากรับในปริมาณที่น้อยก็สามารถขับออกมาได้ทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจเข้าไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจนจะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติและเสียชีวิต

ข้อแนะนำในการต้มหน่อไม้ ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ดองหรือหน่อไม้ปี๊บ โดยเฉพาะหน่อไม้สด  ควรต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที ลดไซยาไนด์ได้ 90.5%

ถ้ากินพืชที่มีสารนี้สดๆ จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ทำให้เสียชีวิตได้  พบอาการพิษแบบฉับพลัน คือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง

อย่างไรก็ตาม หากมีการล้างให้สะอาด และปรุงสุกผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม อบ หรือ ทอด เผา อบแห้ง ก็สามารถบริโภคได้ตามปกติ

cr:www.thesun.co.uk

ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไซยาไนด์ เป็นสารหรือของเหลวที่มีอันตรายสูง จะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อกภายในเวลานับเป็นนาที และเสียชีวิต โดยที่ไม่รู้ตัวว่าได้รับเข้าสู่ร่างกาย

หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะได้รับไซยาไนด์เข้าไป แล้วรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีการสำรองยาต้านพิษเอาไว้ในโรงพยาบาลทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

“สารนี้ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น ตั้งแต่จำนวนการครอบครอง และการนำไปใช้อย่างไร ใครนำไปใช้ จำนวนเท่าไร เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์พิษฯ ได้พยายามเรียกร้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เพียงแต่รับทราบปัญหาเท่านั้น”ศ.นพ.วินัย กล่าว

สำหรับ “ไซยาไนต์” ที่กลายมาเป็นทูตมรณะ ในกระแสข่าวคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม แต่ ไซยาไนต์” ก็เป็นสารอันตรายที่ควรระมัดระวัง เพราะมีมากมายหลากหลายรูปแบบทั้งของแข็ง ผสมเป็นของเหลว หรือแม้แต่เป็นก๊าซ และคนผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าได้สัมผัสหรือบริโภคไซยาไนต์เข้าไป ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะป้องกันพิษภัยจาก “สารมฤตยูไซยาไนต์”ได้ดีที่สุด คือหมั่นสังเกต และระวังตัวเมื่อต้องสัมผัสกับอาหารจากคนแปลกหน้า แต่เนื่องจากไซยาไนต์ออกฤทธิ์เร็วมาก ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอาหารแปลกๆ มากเป็นพิเศษ

เช่นเดียวกันกับภาครัฐ ที่ก็ควรมีมาตรการคุมเข้ม (มากกว่าเดิม) สำหรับผู้ครอบครอง ผู้จำหน่าย และป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของอิจฉาชีพ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะตามมา

 

ทีมข่าวมหาชนรายงาน

ข้อมูลจาก : เพจหมอแล็บแพนด้า กระทรวงสาธารณสุข  ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *