“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจเลือกตั้ง 66 “อุ๊งอิ๊ง เพื่อไทย” นำโด่ง “พิธา ก้าวไกล” ที่ 2 พรรคลุงๆ ทิ้งห่าง

“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1″ ‘อุ๊งอิ๊ง เพื่อไทย’ คะแนนนำที่ 1 คนอยากให้เป็นนายก ตามด้วย ‘พิธา ก้าวไกล’ ตามมาที่ 2 ส่วน ‘ประยุทธ์ รวมไทยสร้างชาติ’ ทิ้งห่างไม่เห็นเงา ด้านพรรคอื่นๆ คะแนนรั้งท้าย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 15.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 15.65 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 4.45 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 8 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 9 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) อันดับ 10 ร้อยละ 1.40 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) อันดับ 11 ร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 3.35 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายเศรษฐา ทวีสิน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์)

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.75 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 17.40 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.75 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 5.40 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.95 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.70 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.60 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 9 ร้อยละ 2.15 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 2.95 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคกล้า พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคเพื่อชาติ

ด้านพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 17.15 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.15 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.95 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.85 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.60 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.55 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 9 ร้อยละ 2.30 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 3.25 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคกล้า พรรคเพื่อชาติ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *