บ่มเพาะกล้าพันธุ์ “ผู้นำต้องทำก่อน” เดินหน้าสู้โควิด

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ตำบลคลองนิยมยาตรา ชูหลัก “ผู้นำต้องทำก่อน สร้างความมั่นคงทางอาหาร บ่มเพาะกล้าพันธุ์ จากรุ่นสู่รุ่น” จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตยุคโควิด

ภาพความวุ่นวายของผู้คนที่ก้มๆเงยๆอยู่ในบริเวณที่ดินริมถนนกลางหมู่บ้าน เสียงพูดคุยของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหน้าแปลงผักที่หลายต่อหลายคนพากันชุลมุนวุ่นวายกับการขุดดิน ปลูกผัก รดน้ำ ตรึงให้คนหลายคนที่ผ่านไปผ่านมาได้หยุดมอง จนสะดุดกับดวงตากลมโตของสาวน้อยกับเหงื่อเม็ดใหญ่ที่ผุดขึ้นเต็มวงหน้า ประทับใจกับรอยยิ้มหวานและเสียงบอกเล่าที่แจ่มใส สาวน้อยหน้าหวานแนะนำตัวให้รู้จัก

“แตงไทย” นางสาวพัชรพรรณ บุญมี อายุ 16 ปี กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าถึงตัวเองว่าเป็นเยาวชนของหมู่ที่ 3 บ้านวัดนิยมยาตรา ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
“พวกผู้ใหญ่พากันมาชักชวนให้พวกเราเด็กๆ มาสมัครเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ตำบลคลองนิยมยาตรา ตอนแรกก็รู้สึกเฉยๆ ก็คงไม่ต่างอะไรกับที่เคยได้เห็นพวกย่า พ่อ มานั่งอบรมฟังวิทยากรพูดๆกัน แบบที่ผ่านมา แต่จริงๆแล้ว นี่ไม่ใช่การอบรม แต่เป็นการลงมือทำกันจริงๆจังๆมาก อย่างที่เห็น คือ กิจกรรมถนนกินได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางผู้นำการเปลี่ยนแปลงของตำบลได้ทำขึ้นมา ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ เห็นคนทุกเพศ ทุกวัย ในทุกหมู่บ้านของตำบลเรา ได้มาร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ ในพื้นที่ส่วนรวมหรือเป็นคลังอาหารของชุมชนเรา ได้เห็นคนในตำบลมาช่วยเหลือกัน สามัคคีกัน ดูแลพืชผักผลไม้ที่เราได้ปลูกขึ้นมา”

“แตงไทย” เล่าต่อว่ากิจกรรมถนนกินได้ ที่รับฟังมาจากผู้ใหญ่ในบ้าน คือ คุณพ่อและคุณย่าของตนเอง ที่ได้เข้าร่วมฝึกอบรมในกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งภายหลังจากการอบรม 3 วัน ทางคุณย่าของน้องแตงไทย คือ นางเปรมวดี บุญมี และคุณพ่อคือ นายกนิษฐ์นันท์ บุญมี ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลคลองนิยมยาตราขึ้น โดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เข้าร่วมการอบรม จำนวน 15 คน เป็นคณะกรรมการ และได้เปิดรับสมาชิกกลุ่มขึ้น ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกจากทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะการเปิดรับสมาชิกผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมงานพัฒนาชุมชนของตำบล ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาถึง 150 คน

นางเปรมวดี บุญมี ประธานกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลคลองนิยมยาตรา กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลคลองนิยมยาตรา ที่มีพื้นที่การปกครอง 6 หมู่บ้าน 700 กว่าครัวเรือน มีประชากรมากถึง 2,500 คน แต่ส่วนหนึ่งจะประกอบอาชีพรับจ้าง แรงงานในโรงงาน ซึ่งในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด ได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นอยู่ที่ต้องหวาดระแวงกับเชื้อที่มองไม่เห็น คนตกงานกลับมาอยู่ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น ต้องปรับตัวปรับใจให้อยู่กับชีวิตแบบดั้งเดิม หาอยู่ หากินกับธรรมชาติ ดังนั้น การได้เข้าร่วมอบรมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปลุกจิตสำนึกของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลชุมชน ให้ได้ไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนในชุมชนให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ ด้วยการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตนับว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสภาวะการณ์เช่นนี้
“จากวันนั้นที่ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการและอำเภอบางบ่อ จัดอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลคลองนิยมยาตราครั้งแรก 15 คน นับถึงวันนี้ กว่า 3 เดือน ที่เราได้รับภารกิจพิชิตฝันที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนของเรา ตามแนวคิดที่ว่า 1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล 1 ตำบลดูแลได้ทั้งอำเภอ 1 อำเภอดูแลได้ทั้งจังหวัด 1 จังหวัดสามารถดูแลได้ทั้งประเทศ โดยการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นผู้นำทางความคิด ตามแนวทางของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขยายต่อยอดสู่กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ผู้นำต้องทำก่อน สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักสวนครัว ให้เต็มพื้นที่ ภายใต้สโลแกน “ปิดหมู่บ้าน 3 เดือน เราก็อยู่ได้” นางเปรมวดีกล่าว

ขณะที่ นายกนิษฐ์นันท์ บุญมี ผู้ใหญ่บ้านวัดนิยมยาตรา บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาจากการซึมซับที่ได้จากครอบ ครัว นางเปรมวดี บุญมี คือ มารดาผู้ให้กำเนิด ได้ทำเป็นตัวอย่างในการทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน “ต้นแบบที่ดี” จากที่ตัวเขาได้เห็นเท่าที่จำความได้ คำพร่ำสอนของบุพการี ทำให้มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น คือ สำนึกรักบ้านเกิด เมื่อจบการศึกษาจากต่างจังหวัด จึงได้กลับมาที่หมู่บ้าน ได้มีโอกาสจากคนในชุมชนเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองท้องที่ เมื่อได้เข้าร่วมอบรมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดความใส่ใจ พร้อมจะเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาชุมชนของตนเอง จนได้มาร่วมอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้สึกถึงแรงขับผลักที่จะกระทำความดี ทำสิ่งดีๆให้แก่ชุมชน

นายกนิษฐ์นันท์ บุญมี ผู้ใหญ่บ้านวัดนิยมยาตรา ยังเล่าต่อด้วยแววตาที่มุ่งมั่นว่า ในตอนแรก คนรุ่นก่อนบางคน ที่เคยพูดกับเขาว่า ที่พากันออกมาทำถนนกินได้ ปลูกอะไรริมทางริมถนน จะทำไปทำไม เหมือนคนบ้า มาทำทิ้งทำเล่น หนักไปกว่านั้น ก็มีเสียงเปรยกระทบให้รู้สึกว่า ทำไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่มีใครเขามาสนใจเรื่องแบบนี้ เขายอมรับว่า ในตอนนั้นรู้สึกว่า ต้องทำอย่างไร จึงจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนพวกนี้ได้ เมื่อนำเรื่องมาพูดคุยร่วมกับทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อและคนในกลุ่ม จึงมีคำตอบของเรื่องนี้ว่า เราเป็นผู้นำ ซึ่งผู้นำต้องทำก่อน และสุดท้ายต้องเปลี่ยนแปลงคนให้คิดใหม่ เข้าใจใหม่ได้ ไม่ต้องเริ่มจากไกลตัว แต่ให้เริ่มจากคนใกล้ตัว คือ คนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ลูกหลานของเราเอง

“ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ของตำบลคลองนิยมยาตรา คือ ผลผลิตที่เราภูมิใจ จากการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง 15 คน ที่ได้กลับไปพูดคุยกับครอบครัวของตนเอง จากแนวคิด “ผู้นำต้องทำก่อน” จึงมองว่า คนใกล้ตัวที่สุด คือลูกหลานของเราเอง ก็ต้องทำก่อนด้วย ทำนองว่า จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาตัวเราและคนในครอบครัวเราก่อนนั่นเอง” นายกนิษฐ์นันท์ย้ำ

“ก่อนหน้านี้ หนูชอบเล่น จับแต่มือถือ ไม่ค่อยได้ช่วยอะไร แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้ลองเล่นปลูกต้นไม้ ปลูกผัก มีผู้ใหญ่พาทำ ทั้งพ่อ ทั้งย่า แล้วก็ป้าๆ ลุงๆ เขามาสอนให้ขุดดิน ปลูกผัก แล้วก็เห็นพากันทำทุกวันๆ ส่วนเด็กๆอย่างพวกหนู ก็จะได้มาเจอกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะมีให้เด็กมาอบรมแล้วก็มาขุดดิน ปลูกผัก มาหัดเพาะเห็ดฟางกัน สนุกเลยคะ”
นี่คือคำบอกเล่าของ “รักยิ้ม” เด็กหญิงบงกชกร บุญมี อายุ 10 ปี เรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 ลูกสาวสุดรักสุดหวงของผู้ใหญ่บ้าน เล่าด้วยเสียงเบาๆ แต่ใบหน้าที่ยิ้มแย้มเต็มไปด้วยความสุข ด้วยความที่เป็นเด็กเล็กในบ้าน วัยที่แตกต่าง ทำให้ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ น้องไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนเท่าไหร่นัก เมื่อมีการเปิดรับสมัครผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ จึงเป็นโอกาสในการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในวัยใกล้กัน น้องบอกว่า อยากให้ถึงวันเสาร์เร็วๆ จะได้มาเจอเพื่อนๆ ต่างหมู่บ้าน ได้ไปเล่นขุดดิน ทำเห็ด ได้วิ่งเล่น ได้ทานอาหารร่วมกัน สุดท้ายยังได้ไปช่วยผู้ใหญ่ที่มาดูแลพวกเด็กๆ รดน้ำแปลงผักที่ได้ปลูกด้วยตนเองกันอีกด้วย ประโยคสุดท้ายที่น้องรักยิ้มได้เอ่ยขึ้นก่อนที่จะเดินหายไปกับกลุ่มคนหน้าแปลงผัก
“หนูไม่เคยปลูกผัก หรือ ขุดดิน พอเห็นพ่อ เห็นย่า เห็นพี่ ทำทุกวัน ทำแบบไม่บ่นเลย หนูก็เลยคิดว่า หนูก็ต้องทำได้เหมือนกันคะ และหนูก็ภูมิใจที่ได้เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ของตำบลคลองนิยมยาตรา เหมือนพี่ๆ เพื่อนๆ ในตำบลของหนูค่ะ” “รักยิ้ม” ปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

หากจะเอ่ยว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงของตำบลคลองนิยมยาตราที่ได้ทำกิจกรรมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ก็เปรียบเสมือนเป็นต้นกล้าพันธุ์ไม้ที่ได้รับการบ่มเพาะมาจากรุ่นสู่รุ่นด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ แม้วิถีชีวิตในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ขยายวงกว้างในพื้นที่ของชุมชนก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ต้นกล้าพันธุ์ไม้ที่เกิดขึ้น ย่อมจะยืนหยัดคลี่คลายเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้อย่างแน่นอน