เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ถ่ายทอดสดผ่านยูทูปการอ่านคำวินิจฉัย เรื่องประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะ ตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4)และ(5) หรือไม่ วันพุธที่ 14สิงหาคม พ.ศ.2567 เวลา 15.30น. เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัยโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยึดตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ฉบับลงวันที่ 31 ก.ค. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 ตั้งแต่ เวลา 00.01 น.ไปจนถึงเวลา 23.59 น.
ต่อมาเวลา 15.30น.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยความว่า ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เสียง 5 ต่อ 4 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ยอมรับเสียใจถูกวินิจฉัยผิดจริยธรรมร้ายแรง แต่น้อมรับคำตัดสิน
นายเศรษฐา กล่าวยอมรับว่า เสียใจที่ถูกวินิจฉัยว่า ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง แต่น้อมรับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ ให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ทำหน้าที่รักษาการก่อน เพราะนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯคนที่ 1 และ รมว.พาณิชย์ อยู่ที่คาซัคสถาน กำลังเดินทางกลับมา พร้อมบอกว่าส่วนตัวหมดหน้าที่ไปแล้วเมื่อเวลา 15.30 น. และไม่เชื่อว่าจะมีคนวางยา หลังจากนี้ ต้องให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยดำเนินการ ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกระบวนการของรัฐสภา นายกฯคนต่อไปจะมาจากพรรคใดก็ตาม ก็พร้อมยอมรับ ส่วนการเดินหน้านโยบายสำคัญต้องให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ไม่อยากจะกดดันใดๆ ทั้งสิ้น
ภาคเอกชนช็อก “เศรษฐา” พ้นนายกฯ ความเชื่อมั่นดิ่ง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในมุมของภาคเอกชนได้สะท้อนให้เห็นภาพหลายแล้ว และคำวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ ทำให้นักลงทุนต่างช็อกและชะงักการลงทุน สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวที่พิจารณาสำหรับนักลงทุน ก็คือเรื่องของการเมือง เราต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่ง และต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาก็จะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป มันก็ขาดความต่อเนื่อง”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีคดี ตลอดระยะเวลากว่า 80 วัน ทุกคนก็ชะลอการลงทุนอยู่แล้ว และรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ทุกฝ่ายมีการมอนิเตอร์ ติดตามผล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมดเพราะก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ด้วย
ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศฝั่งอเมริกา ยุโรป อาจจะให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามพูดคุยกับทาง ส.อ.ท อยู่ตลอดเวลา แต่ว่านักลงทุนทั้งโซนเอเชียเองอย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40 – 50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้ และสามารถปรับตัวได้
“ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้า เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรงและเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน และรวมถึงปัญหาสะสมของประเทศไทย ที่ลึกไปเชิงโครงสร้างมาตั้งนาน แต่ว่าท่านนายกก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัวและใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ได้” นายเกรียงไกร กล่าว