เช็คลิสต์รายชื่อ 14 ส.ว. ใครบ้างมีแนวโน้มโหวตให้ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

เช็คลิสต์รายชื่อ ส.ว.หลังเลือกตั้ง 66 ใครบ้างมีแนวโน้มโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ใครบ้างเคารพมติมหาชน และเสียงข้างมากของ ส.ส.ในสภา ท่ามกลางดอกไม้ ก้อนอิฐ และเสียงโห่ไล่ก่อนหมดวาระเดือนพฤษภาคมปีหน้านี้

หลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศความพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะที่ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 หลังรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเดิมและอีก 2 พรรคพันธมิตรเป็น 5 พรรค รวม 310 เสียง ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมากในสภา

อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุให้ใน 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว. ยังมีอายุไปถึง พฤษภาคม 2567

นั่นทำให้ประเด็นเรื่องการโหวตนายกฯ ของส.ว. กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทย ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา หลายคนได้ออกมาแสดงเจตจำนงค์ถึงกรณีดังกล่าว

หากย้อนไปดูรายชื่อ ส.ว. เสียงข้างน้อย ที่เคยยกมือปิดสวิตช์โหวตเลือกนายกฯ จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ซึ่งสภาพิจารณาไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 พบว่ามีสมาชิก ส.ว.ลงมติรับหลักการ หรือเห็นชอบให้ตัดอำนาจตัวเองตามบทเฉพาะกาลนี้ จำนวน 23 คน

โดย 23 ส.ว. นี้ ประกอบด้วย กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, คำนูณ สิทธิสมาน, จรุงวิทย์ ภุมมา, เฉลิมชัย เฟื่องคอน, เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ,ณรงค์ สหเมธาพัฒน์,เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, บรรชา พงศ์อายุกูล,ประภาศรี สุฉันทบุตร, ประมนต์ สุธีวงศ์ ,ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, พิศาล มาณวพัฒน์, มณเฑียร บุญตัน, เลิศรัตน์ รัตนวานิช, วันชัย สอนศิริ, วัลลภ ตังคณานุรักษ์, สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, สุวัฒน์ จิราพันธ์, อดุลย์ แสงสิงแก้ว, อนุศาสน์ สุวรรณมงคล และ อำพล จินดาวัฒนะ

ซึ่งครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ 23 ส.ว.กลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่ “อาจจะ” โหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะมี ส.ว.บางรายในกลุ่มนี้ที่ “งดออกเสียง” หรืออาจรอดูท่าทีก่อน ไปจนถึงไม่โหวตให้ จากการสัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ หลายครั้ง

นอกจากรายชื่อเหล่านี้ พบว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มจะไม่โหวตให้นายพิธา บางรายประกาศเจตจำนงค์ชัดเจน เช่น สมชาย แสวงการ, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, จเด็จ อินสว่าง, เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นต้น

 

ล่าสุด มี ส.ว.ที่คาดว่าจะโหวตให้นายพิธาค่อนข้างแน่นอนแล้ว ดังนี้
1. ทรงเดช เสมอคำ
2. วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
3. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
4. ภัทรา วรามิตร
5. เฉลิมชัย เฟื่องคอน
6. ซากีย์ พิทักษคุมพล
7. ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม (มีเงื่อนไข)
8. วัลลภ ตังคณานุรักษ์
9. สังศิต พิริยะรังสรรค์ (มีเงื่อนไข)
10. มณเฑียร บุญตัน
11. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
12. รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
13. ประมาณ สว่างญาติ
14. ประภาศรี สุฉันทบุตร

ส่วน ส.ว.ที่ประกาศตัวว่า “ขอเป็นกลางโดยงดออกเสียง” พบว่า เป็น ส.ว.กลุ่มทหาร อันมาจากผู้นำเหล่าทัพชุดใหม่ ที่ส่งสัญญาณว่า จะลงมติงดออกเสียงด้วยเหตุผลว่า “เพื่อป้องกันข้อครหาวางตัวไม่เป็นกลาง” แต่เมื่อย้อนไปดูการลงมติเลือกนายกฯ ของบรรดาผู้นำเหล่าทัพที่มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ในปี 2562 ก็พบว่า ล้วนเคยลงมติเลือก ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกฯ มาก่อนอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่มีท่าทีวางตัวเป็นกลางทางการเมืองแต่อย่าง แม้ว่า ส.ว. ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ขณะนี้ จะเป็นผู้นำเหล่าทัพชุดใหม่ที่เลื่อนขึ้นมาตามการแต่งตั้งโยกย้ายก็ตาม แต่ก็พบว่าหลายคนเคยทำงานใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อนด้วย

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมี ส.ว.อีกกี่รายที่เลือกฟังเสียงประชาชนกว่า 27 ล้านเสียงอันเป็นมติมหาชนที่อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าเสียที

นับจากนี้ไปจนถึงพฤษภาคมปีหน้า คือห้วงเวลาที่อำนาจ ส.ว. 250 คนจะสิ้นสุดลง มาดูกันว่า ส.ว.แต่ละคนจะเลือกทางลงสวยๆ ให้ผู้คนจดจำพวกเขาในหน้าประวัติศาสตร์แบบใด…ให้อภัย-เข้าใจ หรือสาปแช่ง?

 

ทีมข่าวมหาชนการเมือง-รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *