เสพข่าวเลือกตั้งระวังสุขภาพจิต!! หมอแนะนำวิธีสำรวจตัวเอง

ยิ่งใกล้เลือกตั้งฯ ยิ่งหมั่นใส่ใจสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทยสำรวจสุขภาพใจ ผ่านคิวอาร์โคด Mental Health Check In พร้อมเผยวิธีรักษาสัมพันธภาพ สนทนาอย่างมีสติและสร้างสรรค์ เปิดใจ รับฟัง ความเห็นต่า

กรมสุขภาพจิต ชี้ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารการเลือกตั้งฯใกล้ชิด ความตื่นตัวและมีส่วนร่วมการเลือกตั้งฯครั้งนี้จัดว่าเป็นพลังประชาชนขับเคลื่อนประเทศชาติ อันเป็นการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตย เป็นความเครียดที่สร้างสรรค์ ทว่าบางรายอาจกระทบการพักผ่อน จนมีอาการทางกาย จิตใจและอารมณ์ ทำให้มีปัญหาสัมพันธภาพต่อผู้อื่นได้ แนะการสื่อสาร เปิดใจรับฟัง ยอมรับความแตกต่าง เอาใจเขาใส่ใจเราในมุมมองที่เคารพสิทธิ์ผู้อื่น สนทนาอย่างมีสติ ไม่กระตุ้นความเครียด ก้าวร้าว เกลียดชัง เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงจากความเห็นต่าง หากพบความเครียดในระดับที่น่าเป็นห่วงสามารถสำรวจสุขภาพใจตนเองผ่านไลน์แอพลิเคชั่น คิวอาร์โคด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิต และเรียนรู้คำแนะนำการดูแลตัวเอง การใช้เวลาเสพข่าวอย่างเหมาะสมและการสื่อสารเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ได้

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากสถานการณ์กระแสข่าวการเลือกตั้งสส.ตลอดทั้งวัน กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านทางไลน์แอพลิเคชั่น Mental Health Check In (MHCI) โดยแบ่งช่วงผลสำรวจเพื่อประเมินแนวโน้มรายเดือน ตั้งแต่ธค.2564 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนมีแนวโน้มเครียดเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 20 มี.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 2.17 เป็นความเครียดที่ระดับ 3.07 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 จากฐานกลุ่มตัวอย่างจำนวน 127,009 คน โดยบรรยากาศการเลือกตั้งในปีนี้มีความคึกคักอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัว ชุมชนมีการตื่นรู้การเมือง เป็นโอกาสของสังคมไทยในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างสร้างสรรค์ ทำให้การสนทนาและสื่อสารบนโลกออน์ไลน์หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองได้ยาก ทั้งในประเด็นนโยบายของพรรคการเมืองและคุณสมบัติที่น่าสนใจของผู้ลงสมัคร โดยมีข้อสังเกตได้ว่าประเด็นเหล่านี้อาจเร้าความเห็นที่แตกต่างในแต่ละวงสนทนาได้มาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรรับฟังกันและกันอย่างมีสติ เคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ใคร่ครวญวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจากข่าวสารที่ได้รับ เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดและมุมมองให้เกิดประโยชน์ พยายามลดการแสดงความเห็นลักษณะตำหนิขัดแย้งเพื่อเอาชนะคู่สนทนา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งพัฒนาการของการเมืองและสัมพันธภาพในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงด้วย

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนใส่ใจกันและกัน พยายามใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ระวังการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่สนทนาด้วย รับฟังและระงับอารมณ์ให้สงบเมื่อได้ยินถ้อยคำที่รุนแรง รวมทั้งสังเกตอากัปกิริยาของผู้ที่จะสนทนาว่ามีอารมณ์ฉุนเฉียวหรืออยู่ในอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมสติ เช่น กำลังดื่มสุรา เป็นต้น ที่อาจจะนำไปสู่การถกเถียง ทะเลาะวิวาทได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการชื่นชมคู่สนทนาในการแสดงออกที่เหมาะสม สุภาพ มีเหตุผล เคารพผู้อื่น พร้อมนี้ ขอแนะนำประชาชนให้แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี ไม่นำเรื่องของการเลือกตั้งมาใช้ในการพนันหรือเดิมพันเพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นและเกิดปัญหาอื่นตามมา หากพบว่ามีความเครียดจนเกิดอาการปวดหัว หัวใจเต้นเรง เกรี้ยวกราด เหงื่อแตก หรือมีการเกร็งกล้ามเนื้อ ควรตั้งสติและยุติการสนทนา แยกตัวมาสงบใจจัดการอารมณ์ตนเองก่อนเพื่อไม่ให้อารมณ์ด้านลบส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ อีกทั้งยังควรดูแลตนเองให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติและมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดตามสมควร

กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนมีสติติดตามข่าวสารการเลือกตั้งฯอย่างสร้างสรรค์ แต่หากรู้สึกเครียดสามารถสำรวจสุขภาพใจด้วยMHCI และปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อการดูแลที่เหมาะสมชวนคนไทย เปิดใจ ยอมรับ เคารพสิทธิ์ ใส่ใจสำรวจสุขภาพจิตด้วย MHC

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *