ม.มหิดล จับมือ สสส. พัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีฯ ศตวรรษที่ 21

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือกับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. พัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี เพิ่มทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 พร้อมใช้ Credit Bank สะสมหน่วยกิต เทียบโอนเอื้อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากรสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ

​​เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องการพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

โดย ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจะก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในร้อยมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดระดับโลก (World Class University) ทั้งนี้ โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงระบบการจัดการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความท้าทายในปัจจุบัน และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 4 มุ่งส่งเสริมให้ประชากรโลกเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม และข้อที่ 10 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี 2573 ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับการดำรงชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและมีความยืดหยุ่น (Flexible Education) โดยถือเป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และมุ่งให้มีการขยายผล ผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศทางการศึกษา

“การลงนามความร่วมมือในวันนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญ ในการร่วมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิชาการ ด้านการสร้างเสริมศักยภาพของบุคคล โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสาขาอื่น ๆ ที่มีความถนัดและต้องการศึกษามากกว่า 1 สาขา ที่สำคัญมีโครงการระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองสนใจเก็บเข้าในระบบดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของประเทศและโลกในอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

​​ดร.ประกาศิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข และยังเป็นภาคีสำคัญด้านวิชาการในการจัดการความรู้หลายด้าน ทั้งการวิจัยและการส่งเสริมป้องกันโรค อาทิ โครงการการจัดการด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของอาหารริมบาทวิถี โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายของคนไทยผ่านศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป รวมทั้งร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21

​​ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ริเริ่มพัฒนารายวิชาแบบ Micro-Credentials และสนับสนุนให้ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำรายวิชา Microcredit ที่แบ่งย่อย หน่วยกิตให้เล็กลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งบุคคลในวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย สามารถสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต แล้วนำมาเทียบโอน เพื่อร่นระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยยังคงคุณภาพขององค์ความรู้ที่คัดสรรจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับโลก

​​รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทิศทางความร่วมมือมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีและการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับการพัฒนาทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 (LIFE-LONG LEARNING FOR ESSENTIAL SKILL DEVELOPMENT OF THE 21ST CENTURY AND BEYOND) ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล และการทำงานในเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ มีความร่วมมือจัดทำ Microcredit ทำให้สามารถเก็บเป็นหน่วยกิตสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิตของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถใช้สำหรับการเข้าศึกษาต่อและได้ปริญญาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ เป็นสาขาแรก สำหรับระยะต่อไปจะจัดทำ Training course รายวิชาอื่น ๆ ในรูปแบบ Microcredit และความร่วมมือด้านการฝึกภาคสนาม (Field internship หรือ Field study) ด้านส่งเสริมสุขภาพ สำหรับนักศึกษาของหลัก สูตร และระยะต่อไป จะมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันที่ตอบโจทย์ความต้องการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีหลายภาควิชา/หลักสูตร ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาร่วมกันได้

​​รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สสส. กล่าวว่า สสส. ได้จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพขึ้น มีหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาหลักสูตร ศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เผยแพร่และสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันสนับสนุนและฝึกอบรม จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานของ สสส. หรือบุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ความช่วยเหลือแก่ภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้ มีการจัดทำ Microcredit ของหลักสูตรฝึกอบรมของ ThaiHealth Academy กับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาต่าง ๆ ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนั้น จะเอื้อให้ภาคีเครือข่ายที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรของ ThaiHealth Academy สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตของรายวิชาที่เทียบเคียงในระบบธนาคารหน่วยกิตได้