เจ เอส แอลฯ รุกเสิร์ฟรายการเพื่อคนพิการรู้เท่าทันสื่อ ใน “D-มีดี” คว้า “ปาล์ม – ธัญวิชญ์” จ้อพิธีกรร่วมกับคนหูหนวก ทุกเสาร์-อาทิตย์ ททบ.5

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไว้วางใจให้ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการสุดสร้างสรรค์เพื่อสังคม อย่างรายการ “D-มีดี” ซึ่งเป็นรายการเพื่อคนพิการเต็มรูปแบบ บอกเล่าเรื่องราวของคนพิการหลากหลายแบบ ทั้งพิการทางร่างกาย ทางการมองเห็น และ ทางการได้ยิน ให้รู้จักการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และ ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข และปลอดภัยจากสื่อที่ไม่ดี ดำเนินรายการโดยพิธีกรคนหูดี อย่าง “ปาล์ม-ธัญวิชญ์ เจนอักษร” ร่วมกับพิธีกรคนหูหนวกถึง 3 คน ได้แก่“วัชรินทร์ ชาลี, ภัทธมน หวานดี และ วรปรัชญ์  ปราจันทร์” พร้อมด้วยล่ามภาษามือเต็มตัวตลอดรายการ อย่าง “นุชริน รัญญะวิทย์”  นำเสนอเรื่องราวผ่านแขกรับเชิญที่เป็นคนพิการ เช่น  “นับดาว  องค์อภิชาติ” คนหูหนวกผู้จัดการประกวด Miss & Mr. Deaf Thailand, “นลัทพร  ไกรฤกษ์” คนพิการทางร่างกายที่ใช้สื่อ เพื่อคนพิการโดยเฉพาะ, บาริสต้าหูหนวก “บุญมี เรือนปัญญา” ที่ลุกขึ้นทำสื่อเพื่อคนพิการ และ “อิทธิพล พิมทอง” นักดนตรีตาบอดที่เรียนรู้การเท่าทันสื่อเพื่อรับมือกับโควิด-19 ออกอากาศให้ชมกันตอนแรกในวันเสาร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 18.00-18.30 น. ทาง ททบ.5

โดย “ปาล์ม-ธัญวิชญ์ เจนอักษร” เปิดใจว่า “ผมดีใจที่ได้มีโอกาสมาเป็นพิธีกรรายการ  “D-มีดี” ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับสังคม  ชื่อรายการนี้ ตัว D – มาจาก Disable ที่แปลว่า “คนพิการ”  ส่วน “มีดี” หมายถึง คนพิการของรายการนี้ มีดีในการรู้เท่าทันสื่อ และ ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ เป็นรายการที่เราอยากจะสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงสื่อได้ ทำให้รู้ว่ามีวิธีการเข้าถึงสื่ออย่างไร รวมทั้งยังช่วยสะท้อนปัญหาการเข้าถึงสื่อของคนพิการในปัจจุบัน รายการนี้เป็นรายการที่นำเสนอด้วยภาษามือแบบเต็มจอ พร้อมบริการเสียงบรรยายภาพและคำบรร ยายแทนเสียง และนอกจากผม ที่รับหน้าที่พิธีกรแล้ว ยังจะมีพิธีกรร่วมที่เป็นคนหูหนวกหมุนเวียนสลับเปลี่ยนกันไป โดยมีล่ามภาษามือที่คอยแปลตลอดทั้งรายการ มาร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างคนหูหนวกและคนทั่วไป และยังได้แสดงศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับคนพิการด้วย ซึ่งคนพิการบางคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ แต่ขาดความเข้าใจ เช่นเขาอาจไม่สามารถรับรู้ได้ว่า เป็นข่าวที่ได้รับมาเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม รวมถึงบางสื่ออาจจะนำเสนอเรื่องราวที่ไม่จริงเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งเราจะต้องตั้งคำถามกับสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาการเข้าถึงสื่อไปพร้อม ๆ กัน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และไม่ใช่แค่คนพิการ คนทั่วไปก็เช่นกัน สมมุติว่าเราพูดถึงข่าว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริง หรือหากเรามีข้อสงสัยหรือพบปัญหาจากการนำเสนอ เราสามารถไปแจ้งหรือร้องเรียนได้หรือไม่ ที่  ไหน ซึ่งเราสามารถสร้างสรรค์สื่อให้เข้าใจให้ถูกต้องเป็นสื่อที่มีประโยชน์ เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านเรื่องราวในรายการ “D-มีดี” ผมเชื่อว่าเราจะเข้าใจคนพิการมากขึ้น และก็จะทำให้คนพิการเข้าใจด้วยว่าทำอย่างไรถึงจะรู้เท่าทันสื่อ ห้ามพลาดนะครับ”