เปิดเทศกาลข้าวใหม่ ประจำปี 2565 ชวนระลึกถึงความสำคัญ “ชาวนา-ข้าวอินทรีย์”

เปิดเทศกาลข้าวใหม่ ประจำปี 2565 ชวนคนไทยระลึกถึงความสำคัญของ “ชาวนา-ข้าวอินทรีย์” ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าว สสส. สานเสริมพลังเชื่อมโยงผลผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม

​เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเทศกาลข้าวใหม่ ประจำปี 2565 ตอน ‘จากต้นทางหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ถึงข้าวใหม่กรุ่นกลิ่นในจาน’ ระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของข้าวและชาวนา โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านของไทยที่เพาะปลูกตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งในมิติของพันธุกรรม โภชนาการ และรสชาติ ซึ่งนับวันจะหล่นหายไปจากโต๊ะอาหารของคนไทย

นางสุภา กล่าวต่อว่า นอกจากความหลากหลายของข้าวพื้นบ้าน เทศกาลข้าวใหม่ครั้งนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้ผลิตอย่าง ชาวนารายย่อย ที่ยังคงรักษาวิถีการผลิตแบบปลอดสารเคมี รวมถึงมิติเชิงวัฒนธรรมในการผลิตที่ละเอียดอ่อนและแตกต่างหลากหลายตามแต่ละภูมินิเวศ ด้วยการสื่อสารเรื่องราวของชาวนาและรายละเอียดทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องนา ผ่านรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมชิมข้าวพื้นบ้านกว่า 50 สายพันธุ์ ซึ่งคัดสรรโดยชาวนาอินทรีย์ทั่วประเทศไทย

​ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการจัดกิจกรรมเทศกาลข้าวใหม่ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางทรัพยากรอาหาร และสืบสานวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารชุมชนสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของสังคมไทย กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการสานเสริมพลังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการบริโภค ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ และสื่อสารสร้างความรอบรู้ในวิถีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

“สสส. มุ่งเน้นการจัดการเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร วัฒนธรรมอาหาร และกลไกเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารอย่างมีส่วนร่วม สร้างระบบการเชื่อมโยงอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้เกิดการเข้าถึงอย่างเพียงพอสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรม และสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม ‘ล้อมวงกินข้าว เล่าเรื่องในนา’ ซึ่งเชิญนักวิชาการ นักเขียน เชฟ ชาวนา มาพูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการผลิตข้าวไทยอย่างยั่งยืน พร้อมนำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่นจากกลุ่มพี่น้องเกษตรกรอินทรีย์ 4 ภาค อาทิ แกงส้มมันขี้หนู ต้มยำปลาช่อนโบราณ ปลากระโทงแดดเดียว น้ำพริกปลาสด และผักพื้นบ้านนานาชนิดส่งตรงจากสวนทั่วไทย

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเวิร์กชอป อาทิ เวิร์กชอปทำขนมจีนเส้นสดจากแป้งข้าวพื้นบ้าน และเวิร์กชอปการปรุงเมนูง่ายๆ จากข้าวพื้นบ้าน เพื่อนำเสนอไอเดียการใช้ข้าวพื้นบ้านในการปรุงอาหารได้อย่างอร่อยและหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีตลาดข้าวพื้นบ้าน ซึ่งพี่น้องเกษตรกรจากทั่วประเทศนำข้าวพื้นถิ่นเก็บเกี่ยวใหม่ๆ มาออกร้าน ทั้งยังมีสินค้าเกษตรอินทรีย์นานาชนิดมาตั้งแผงให้จับจ่ายกันภายในงาน